ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กไทยมีความเสี่ยงโรคอ้วนเพิ่มขึ้น เหตุกินอาหารที่ไม่ถูกโภชนาการ แถมยังมีพฤติกรรมติดเกมคอมพิวเตอร์ ทีวี และไม่มีการออกกำลังกาย ห่วงสุขภาพแย่ในระยะยาว ชวนพ่อแม่ผู้ปกครอง คุมเข้มในช่วงปิดเทอมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งด้านโภชนาการและออกกำลังกาย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงปิดเทอม พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรเอาใจใส่สุขภาพ บุตรหลานเป็นพิเศษเพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากกินอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ไขมัน และอาหารขยะหรือ JUNK FOOD ในปริมาณมาก ซึ่งจากการศึกษาสถานการณ์การส่งเสริมสุขภาพในนักเรียนพบเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างเพื่อดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์มากเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ถึงร้อยละ 24.3 ในเด็กประถมศึกษา และร้อยละ 51.8 ในเด็กมัธยมศึกษา โดยมีการเคลื่อนไหวหรือ ออกกำลังกายน้อยลง ทำให้ร่างกายขาดความสมดุล เพราะพลังงานที่ใช้ไปไม่เท่ากัน ที่เหลือก็จะเก็บสะสมในรูปไขมัน เกาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำให้เป็นโรคอ้วนได้

สถานการณ์โรคอ้วนของเด็กวัยเรียนในปัจจุบันพบร้อยละ 17 ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง โอกาสเสี่ยงของเด็กอ้วนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่คือ เด็กอ้วน 3 คน จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน 1 คน แต่หากอ้วนจนถึงวัยรุ่น ก็จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงคือวัยรุ่นอ้วน 4 คน จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน 3 คน ซึ่งผลจากการเป็นโรคอ้วนตั้งแต่วันเด็กจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง กลายเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง และทำให้มีภาวะไขมันใน เลือดสูง ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่ดี จะทำหน้าที่พาเอาไขมันไปสะสมอยู่ในบริเวณหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบแข็ง มีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูง นอกจากนี้เด็กอ้วนยังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากเกิดการคั่งของ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะเวลานอนหลับ ปอดจะขยายตัวน้อย ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต อีกทั้งยังพบปัญหาเกี่ยวกับข้อและกระดูกทำให้ปวดหัวเข่า ปวดข้อเท้า กระดูกงอและขาโก่ง เพราะต้องแบกรับน้ำหนักมากอยู่ตลอดเวลา มีปัญหาทางด้านพัฒนาการที่ต้องใช้กล้ามเนื้อคือจะทำให้เดินไม่คล่องตัว เมื่อเดินหรือ วิ่งจะเหนื่อยง่าย ในเด็กโตอาจพบอาการปวดสะโพก ทำให้เดินไม่ได้

"การดูแลสุขภาพเด็กช่วงปิดเทอม พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจัดอาหารใน 1 วัน อย่างเหมาะสม โดยจัดอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย ลดอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักหลากสีในมื้ออาหารและมีผลไม้สดหลังอาหารทุกมื้อ ให้เด็กดื่มนมทุกวัน ๆ ละ 2 แก้ว เด็กที่ยังไม่อ้วนให้ดื่มนมรสจืด แต่หากเด็กเริ่มอ้วนหรืออ้วนแล้วให้ดื่มนมพร่อง มันเนยแทน ลดการซื้ออาหารที่ให้พลังงานสูง มีแป้ง ไขมันและน้ำตาล เป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ พิชช่า เค้ก คุกกี้ รวมทั้งลดเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ 30 นาที ก็จะช่วยให้เด็กลดเสี่ยงโรคอ้วนและมีสุขภาพดีได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด