ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.สั่ง สสจ.คุมร้านขายยาห้ามขายฟอร์มาลีนให้พ่อค้าแม่ค้า เหตุไร้ใบอนุญาต หลังตรวจพบเอาไปใช้ผสมเนื้อสัตว์

วันนี้ (6 มี.ค.) ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีสุ่มตรวจอาหารสด ผักสดใน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพบมีส่วนผสมของสารฟอร์มาลีน หรือน้ำยาฉีดศพ โดยเฉพาะร้านอาหารเนื้อย่างและจิ้มจุ่มในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ว่า อย.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง สสจ.ทุกแห่งให้ช่วยแจ้งเตือนร้านขายยาอย่าจำหน่ายสารฟอร์มาลีนให้กับพ่อค้าแม่ค้า ยิ่งไม่มีใบอนุญาตในการนำไปใช้ยิ่งไม่ได้ แต่เรื่องนี้ อย.คงไม่สามารถไปจับกุมหรือทำอะไรได้มากนัก เนื่องจากกฎหมายควบคุมสารตัวนี้แบ่งออกเป็นหลายหน่วยงาน โดย อย.มีพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า การที่พบว่ามีสารฟอร์มาลีนมาใช้ผสมอาหารนั้น อย.จะดำเนินการได้ใน 2 ส่วน คือ 1.หากพบว่า มีร้านค้าไหนผสมสารฟอร์มาลีนในอาหารอย่างชัดเจน แสดงว่าเข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ สามารถจับกุมได้โดยมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กรณีนี้ต้องมีหลักฐานชัดเจนว่ามาจากร้านนั้นๆ และ 2.จากการควบคุมสารฟอร์มาลีนในการฆ่าเชื้อในโรงงานอาหารหรืออื่นๆนั้น ปัจจุบันไม่มีใครมาขอขึ้นทะเบียนกับอย.ในการใช้กรณีดังกล่าว แสดงว่าไม่มีการใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้
       
"ปัจจุบัน อย.ควบคุมไว้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ก็จะมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการวัตถุอันตรายในเร็วๆนี้ว่า จะให้ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 คือเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามผลิตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง อย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการเสนอต่อไป" รองเลขาฯ อย. กล่าว
       
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ในระหว่างที่ยังไม่ยกระดับ นอกจากจะแจ้งให้ สสจ.แจ้งไปทางร้านขายยาให้อย่าขายให้กับพ่อค้าแม่ค้า ผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้องแล้ว ในส่วนของผู้บริโภคก็ต้องดูแลตัวเองด้วยการหมั่นสังเกต ซึ่งอาจดูภายนอกยาก แต่ดมกลิ่นได้ เนื่องจากสารฟอร์มาลีนจะมีกลิ่นฉุน หากมีกลิ่นฉุนมากๆ แสดงว่าผสมสารฟอร์มาลีน แต่จริงๆแล้วสารดังกล่าวแม้จะพบในเนื้อสัตว์ หากนำไปล้างน้ำนานๆ ต้มให้เดือดก็จะช่วยให้สารเหล่านี้ระเหยและเจือจางหายไปได้ แต่ทางที่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยง