ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการเผยตัวเลขกลุ่มรอพิสูจน์สถานะทั้งประเทศ 6 แสนคน แต่ยังมีชื่อซ้ำซ้อน แนะ สธ.ปรับระบบให้ตรงกัน

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องบุคคลผู้รอพิสูจน์สถานะทางบุคคล ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประสานข้อมูลตรวจสอบสถานะบุคคลของกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค พบว่ามีกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะอยู่ในระบบโดยยังไม่ได้รับเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก จึงปลดล็อกถอดชื่อบุคคลกลุ่มดังกล่าวประมาณ 200,000 คน ทำให้ไม่สามารถรับบริการด้านสุขภาพในกองทุนต่างๆ ได้ว่า จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันบุคคลที่มีปัญหาสถานะหรือกลุ่มรอพิสูจน์สถานะ เพื่อรอเลขบัตรประจำตัวประชาชนมีจำนวนทั้งสิ้น 600,000 คน

นพ.พงศธรกล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23  มีนาคม 2553 ได้จัดตั้งกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือกองทุนคืนสิทธิ ตามที่ สธ.เสนอ โดยให้ไว้ที่จำนวน 457,409 คน ยังเหลืออีกประมาณ 150,000 คน เนื่องจากคนกลุ่มนี้อยู่ระหว่างยืนยันเลขทะเบียน โดยระหว่างนั้นให้เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0 ทำให้ไม่อยู่ในกลุ่มที่ ครม.อนุมัติ

"ล่าสุด ในปี 2554 ได้มีการพิสูจน์ยืนยันเลขทะเบียนแล้วว่าอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สถานะจริง และควรให้เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิด้วย ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้ สธ.นำคนกลุ่มนี้เสนอต่อรัฐบาลใหม่เพื่อเข้าสู่กองทุน และจะเป็นการแก้ปัญหากลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะให้ได้รับการบริการสุขภาพอย่างถูกขั้นตอนและเป็นไปตามมนุษยธรรมอย่างแท้จริง" นพ.พงศธรกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี สปสช.ดีดกลุ่มผู้รอพิสูจน์สถานะอีก 200,000 คนออก คนกลุ่มนี้ไปอยู่ในกลุ่มไหน นพ.พงศธรกล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวจากการตรวจสอบทะเบียนราษฎรปรากฏว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับ 600,000 คน เพียงแต่เกิดกล่าวจากการตรวจสอบทะเบียนราษฎรปรากฏว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับ 600,000 คน เพียงแต่เกิดตัวเลขซ้ำซ้อน พูดง่ายๆ คือกลุ่มคน 200,000 คน ที่ถูกบีบออกมานั้น มีจำนวนหนึ่งมีชื่ออยู่ในสิทธิกองทุนคืนสิทธิ แต่อีกจำนวนหนึ่งต้องรอเสนอ ครม. ซึ่งก็คือตัวเลข 150,535 คน แต่ตัวเลขที่อยู่ในสิทธิกองทุนคืนสิทธินั้น ยังยืนยันไม่ได้ เพราะปัญหาคือ อาจเกิดการซ้ำซ้อนโดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทางแก้ไขคือ สธ.และ สปสช.จะต้องมาเคลียร์ตัวเลขระบบร่วมกันว่ามีใครซ้ำซ้อนอย่างไร ไม่เช่นนั้นสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อการบริการผู้ป่วยกลุ่มนี้

"ปัญหาคือ คนกลุ่มนี้อยู่ในผืนแผ่นดินไทย พวกเขามีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี จึงสมควรต้องมีงบบริหารจัดการที่ชัดเจน และแยกกลุ่มให้ชัดด้วยว่าเป็นกลุ่มม้ง ชาวเขา หรือกลุ่มอากง อาม่าเชื้อสายจีน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาระบบไม่ชัดเจน ส่งผลต่อการบริการคนไข้ เพราะเมื่อชื่อไม่ขึ้นที่ระบบส่วนกลางจะส่งผลให้โรงพยาบาลในเรื่องการให้บริการรักษาผู้ป่วย ส่วนใหญ่ต้องรับการรักษาด้วยมนุษยธรรม แต่จะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ดังนั้น การทำระบบต้องประสานงานให้ข้อมูลตรงกัน ที่สำคัญ สธ.ควรเสนอตัวเลขผู้รอพิสูจน์สถานะอีกกว่า 150,000 คน ให้กับรัฐบาลใหม่ด้วย โดยระหว่างนี้ควรประสานข้อมูลกับ สปสช.ปรับระบบตัวเลขให้ตรงกันให้ได้" นพ.พงศธรกล่าว

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตาก กล่าวว่า ใน จ.ตาก มีกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะบุคคล และกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวนมากมาใช้บริการด้านสาธารณสุขกับโรงพยาบาลภาครัฐมาตลอด อย่างในโรงพยาบาลแม่สอด พบว่า กว่าครึ่งเป็นกลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะบุคคล รวมทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวพม่า ปัจจุบันยังไม่มีการแยกว่ากลุ่มไหนใช้บริการมากกว่ากัน แต่ในภาพรวมส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่ต้องให้บริการเนื่องจากเป็นหลักมนุษยธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้รับหนังสือจาก สธ.ให้รักษาผู้ป่วยทุกสถานะแล้วหรือไม่ นพ.พูลลาภกล่าวว่า จะได้รับหนังสือหรือไม่นั้นไม่สำคัญ ยืนยันว่าให้การรักษาตลอด โดยแต่ละโรงพยาบาลมีปัญหาค่าใช้จ่ายอยู่เสมอ ที่ผ่านมาในระบบของกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดย สปสช.เป็นผู้ดำเนินการนั้นจะมีส่งเงินมาช่วยบ้างส่วนหนึ่ง แต่ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาจะเป็นหน้าที่ของ สธ.มาดูแลเรื่องนี้ผ่านกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือกองทุนคืนสิทธิ ซึ่งจะมีงบประมาณส่วนหนึ่งให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งที่ประสบปัญหา แน่นอนว่าไม่เคยเพียงพอ เพราะกลุ่มนี้มีจำนวนมาก การแก้ปัญหาในเรื่องของ กลุ่มคนรอพิสูจน์สถานะคงต้องรอเลขบัตรประจำตัวประชาชนจากกระทรวงมหาดไทยเพียงอย่างเดียว

นพ.อดุง ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การลงทะเบียนสิทธิกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ กรณีรายใหม่และที่ถูกตัดสิทธิจากกองทุนคือ กลุ่มบุคคลที่มีเลขบัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3,4,5,8 โรงพยาบาลให้บริการและลงทะเบียนสิทธิได้ ส่วนเลข 6 ที่โรงพยาบาลจะลงทะเบียนได้ หลักที่ 67 จะต้องเป็นเลข 50 ขึ้นไปถึงจะลงทะเบียนได้ แต่ถ้าไม่ใช้ก็ให้ซื้อประกันต่างด้าว 2,800 บาท

"ในส่วนของกลุ่มงานหลักประกันสุขภาพ สสจ.แม่ฮ่องสอน แจ้งว่า ข้อมูลกลุ่มบุคคลต่างด้าวที่ถูก สปสช.ตัดออกจากหลักประกันเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ของ จ.แม่ฮ่องสอน มีจำนวนทั้งสิ้น 13,824 ราย ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิแล้ว 3.826 ราย รอลงทะเบียน 1,845 ราย และที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ 8,153 ราย ซึ่งจะต้องซื้อบัตรประกันต่างด้าวอย่างเดียวบัตรละ 2.800 บาท/ปี" นพ.อดุงกล่าว

--มติชน ฉบับวันที่ 8 มี.ค. 2557--