ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานอนหลับ ยังคงเป็นปัญหาที่น่าวิตก เพราะหากยังจำกันได้กับเหตุการณ์การเสียชีวิตของ “ฮีท เลดเจอร์” ดาราหนุ่มชาวออสเตรเลียวัย 28 ปี ที่เสียชีวิตในอพาทเม้นท์หรูที่ย่านโซโห ในนครนิวยอร์คของสหรัฐฯ ในสภาพเปลือย มียาตามใบสั่งแพทย์ซึ่งรวมทั้งยานอนหลับชนิดหนึ่งอยู่ข้างตัว ซึ่งขณะนั้นหนึ่งในสาเหตุต้องสงสัย ยานอนหลับชนิดนี้ เพราะมีการใช้ยาดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง

กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่น่าวิตก แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ในทางด้านสำนักงานควบคุมสินค้าเกี่ยวกับเวชบำบัดของออสเตรเลีย ได้เพิ่มคำเตือนเกี่ยวกับยานอนหลับชนิดนี้ทันที หลังจากมีรายงานน่าตกใจว่า ยาทำให้ผู้บริโภคลุกขึ้นเดิน กินอาหาร ขับรถหรือมีเพศสัมพันธ์ในขณะหลับ และยังมีผลข้างเคียงที่ผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีอารมณ์เกรี้ยวกราด นอนไม่หลับ สับสน ว้าวุ่น ประสาทหลอน และพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ด้านบริษัทชื่อดังผู้ผลิตออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ยากที่จะยืนยันว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์มาจากการใช้ยาจริง

แม้เรื่องดังกล่าวจะยังไม่ได้ข้อพิสูจน์ว่า ยานอนหลับชนิดดังกล่าว หรือที่เรียกกันในชื่อสามัยว่า โซพิแดม (zolpidem) จะมีอันตรายจริงหรือไม่ แต่ในบางประเทศก็เริ่มมีการศึกษาวิจัยถึงอาการไม่พึงประสงค์แล้ว อย่างล่าสุดมีการเปิดเผยถึงผลการศึกษาของนักวิจัยแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยไต้หวัน ที่ทำการศึกษาสารออกฤทธิ์ในยานอนหลับโซพิแดม โดยพบว่า หากใช้ในปริมาณมากจนเกินไปจะส่งผลต่อเส้นเลือดใหญ่และนำไปสู่หัวใจวาย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจมีความเสี่ยงสูง หากไม่มีการควบคุมการทานยาชนิดนี้ แม้แต่บุคคลทั่วไปที่ไม่ป่วยด้วยโรคหัวใจก็เสี่ยงได้รับอันตราย หากรับประทานยาขนาด 10 มิลลิกรัมในทุกสัปดาห์ก็เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจวายได้เท่าตัว ขณะที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้ลดปริมาณยาดังกล่าวลงครึ่งหนึ่งจาก 10 มิลลิกรัมเหลือเพียง 5 มิลลิกรัมเท่านั้น

“ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี” ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา(กพย.) เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากยานอนหลับชนิดนี้ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะต่อหัวใจจริงจะเป็นปัญหามาก ดังนั้น ควรมีการศึกษา หรือนำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ทำงานในการเฝ้าระวังและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา รวมไปถึงอันตรายจากการใช้ยา แต่ปัญหาคือ การประชุมของคณะอนุกรรมการชุดนี้ไม่บ่อยนัก และเกรงว่าบางเรื่องที่จะนำเสนอจะหลุดระหว่างทาง ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เรื่องจึงควรมีการติดตามอย่างใกล้ชิดด้วย นอกจากนี้ อยากฝากในเรื่องการเฝ้าระวังปัญหาจากยาของ อย. เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานจะเน้นไปที่การมอนิเตอร์ หรือเฝ้าระวังในต่างประเทศว่า มียากลุ่มใดที่ถูกถอนการขึ้นทะเบียนบ้าง ประเทศไทยก็จะดำเนินการตาม แต่ในทางกลับกันในเรื่องการติดตามข่าวสารผลการศึกษาเรื่องสารออกฤทธิ์ในยา หรือผลกระทบจากการใช้ยายังไม่ปัจจุบันและครอบคลุมมากนัก กล่าวคือ แม้มีการศึกษา แต่การจะลงมือทำการศึกษาต่อ หรือลงพื้นที่เพื่อตรวจหายากลุ่มเสี่ยงจากผลวิจัยต่างประเทศยังค่อนข้างมีอุปสรรค หากไม่เป็นกรณีวิกฤตจริงๆ ก็จะพบน้อยมาก ดังนั้น อย.ต้องมีการปรับปรุงเรื่องนี้ด้วย

“ปัญหาของ อย.ไทยคือ การทำงานยังไม่เข้มงวดมากนัก อย่างการรายงานผลกระทบจากยาภายในประเทศไทย ก็มักเป็นการรอผลการรายงาน หากใครไม่ส่งรายงานมาก็ไม่มีระบบตรวจสอบ หากประเทศไทยมีระบบเข้มงวด สถานการณ์ปัญหาจากยาก็น่าจะดีขึ้น เพราะอย่างประเทศลาวมีความเข้มงวดเรื่องนี้มาก ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่อย.ของลาว มีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็สามารถทำงานครอบคลุมดี ยกตัวอย่าง หากประเทศไทยนำเข้ายาชนิดหนึ่งไปยังลาว แต่ต่อมายาตัวนี้มีปัญหา จนไทยต้องถอนการขึ้นทะเบียน ลาวก็จะมีการถอนยาตัวนี้ทันที” ภญ.นิยดา กล่าว

ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) “ภก.ประพนธ์ อางตระกูล” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอกว่า ยาดังกล่าวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องจำหน่ายหรือสั่งจ่ายโดยแพทย์ และเภสัชกรที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ห้ามจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท ขณะที่ผู้ซื้อหากพบว่านำไปใช้ในทางที่ผิดก็จะมีโทษจำคุก 1-5ปี และมีโทษปรับ 2 หมื่นถึง 1 แสนบาท ทั้งนี้ เพราะว่ายาดังกล่าวมีฤทธิ์ข้างเคียงต่อจิตประสาท ทำให้ง่วง และออกฤทธิ์เร็ว จึงต้องระมัดระวังในการใช้ โดยต้องใช้ยาไม่เกิน 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ตัวยาดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขคือ หากต้องใช้ในหญิง หรือผู้สูงวัยตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปต้องลดปริมาณลงจาก 10 มิลลิกรัม เหลือ 5 มิลลิกรัมเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับคำเตือนขององค์การอนามัยโลก 

รองเลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีผลการวิจัยของนักวิจัยไต้หวันนั้น ขณะนี้ยังไม่พบ แต่จากการตรวจสอบและเฝ้าระวังของ อย.เอง ยังไม่พบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ในประเทศไทย ซึ่งทางอย.มีการมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา และยังมีคณะอนุกรรมการติดตามและเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาคอยพิจารณาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

“ยาตัวนี้มีการระบุชัดเจนว่า ห้ามใช้ในบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี และห้ามใช้ขณะขับรถยนต์ เนื่องจากเมื่อทานแล้วจะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้ง่วงนอน จึงมีข้อบ่งชี้ให้ทานวันละ 1 เม็ดก่อนนอนเท่านั้น แต่ที่ว่าจะมีผลต่อระบบหัวใจหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่พบรายงานใดๆในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม โดยหลักแล้วไม่แนะนำให้ทานยานอนหลับ หากรู้สึกมีอาการนอนไม่หลับ ควรไปพบแพทย์ อย่าซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด” ภก.ประพนธ์ เตือน

จริงๆแล้วหากหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ พยายามผ่อนคลาย อย่าเครียดมาก โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลง หากทำได้ยานอนหลับก็ไม่จำเป็นเลย