ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาเขตบริการสุขภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 12 เขตทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาระบบการดูแลทารกแรกเกิด ที่มีอาการวิกฤติทุกพื้นที่  ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด และเด็กน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคือน้อยกว่า 2,500 กรัม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วัน หรือมีผลต่อพัฒนาการล่าช้า จากสถิติที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีเด็กคลอดก่อนกำหนดคือคลอดเมื่ออายุครรภ์ 28-37 สัปดาห์ ปีละ 64,000-80,000 คน และมีเด็กที่มีอาการหนัก ต้องอยู่ในไอซียู ปีละกว่า 11,000 คน เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ยังทำงานไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะระบบ การหายใจ ตับ และระบบภูมิต้านทานโรค ทำให้ติดเชื้อง่าย การควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ดี และมีปัญหาการดูดนม ต้อง ได้รับการดูแลจากบุคลากรการแพทย์ที่มีความชำนาญ และต้องอยู่ในโรงพยาบาลเฉลี่ยรายละ 2-3 เดือน จากข้อมูลในปี 2554 มีเด็กทารกอายุต่ำกว่า 28 วัน เสียชีวิต จำนวน 3,154 ราย

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้ให้ ทุกเขตบริการสุขภาพตั้งคณะกรรมการพัฒนาทารกแรกเกิด เพื่อบริหารจัดการทั้งในระดับเขต และระดับจังหวัด จัดระบบบริการร่วมกันตั้งแต่การฝากครรภ์ การพัฒนาห้องคลอด การเพิ่มหน่วยไอซียูดูแลทารกแรกเกิดในภาวะวิกฤติ ซึ่งที่ผ่านมาจะอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป เป้าหมายจะขยายลงถึงโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90-120 เตียงด้วย เพื่อให้เด็กที่มีปัญหาได้รับการดูแลที่รวดเร็ว และพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน ลดปัญหาแทรกซ้อนระหว่างนำส่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 10 มีนาคม 2557