ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไตของประเทศไทยว่า สมาคมโรคไต คาดการณ์ว่า ขณะนี้คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย 2 แสนคน มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 คน รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 40,000 คน ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพียงปีละ 400 คนเท่านั้น โดยใช้เวลารอประมาณ 3 ปี มีผู้เสียชีวิตจากไตวายปีละ 13,000 กว่าคน ซึ่ง 1 ใน 3 อายุน้อยกว่า 60 ปี ผู้ป่วยไต 1 คนจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 บาท ต่อคน ต่อเดือน เพราะต้องได้รับการฟอกไตด้วยวิธีฟอกเลือด หรือล้างไตผ่านหน้าท้อง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้แต่ละปี ต้องใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาท และคาดว่าในปี 2560 อาจต้องใช้งบประมาณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันภาครัฐให้สิทธิประชาชน ทุกคนในการฟอกไตผ่านช่องท้องฟรี นอกจากนี้ เมื่อป่วยยังทำให้คุณภาพชีวิตต่ำลง เสี่ยงการติดเชื้อแทรกซ้อน และไม่สามารถทำงานได้ตามปกติด้วย

นพ.ณรงค์กล่าวว่า ในการแก้ไขป้องกันปัญหาโรคไตวาย สธ.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำแนวทางการพัฒนาเครือข่ายระบบบริการสาขาโรคไต มีเป้าหมายใน 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2556-2560 เพื่อลดกลุ่มเสี่ยง ชะลอการเสื่อมของไตในผู้ป่วยไตเรื้อรังทุกระยะเพิ่มการเข้าถึงบริการโรคไตที่มีคุณภาพเสมอภาคทุกเครือข่าย และพัฒนาขีดความสามารถของโรงพยาบาล ให้สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตและเป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะ โดยในปี 2557 นี้ ตั้งเป้าพัฒนาทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพ ส่วนในด้านการป้องกัน จะเน้น 2 กลุ่ม คือประชาชนทั่วไป มุ่งที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันประชาชนบริโภคเกลือโซเดียมสูงกว่าที่ร่างกายต้องการถึง 2 เท่า เนื่องจากลักษณะการกินของคนไทยชอบกินอาหารรสจัด เติมเครื่องปรุงเพิ่ม ทั้งที่อาหารที่ซื้อกินทั่วไปมีการเติมเครื่องปรุงและผงชูรสลงไปอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุให้ได้รับเกลือโซเดียมเพิ่ม และการป้องกันปัญหาไตวายในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดัน ซึ่งเป็นสาเหตุเกิดโรคไตวายประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากปัญหาการเสื่อมเส้นเลือดฝอยในไต ทำให้เนื้อไตตาย ไม่สามารถขับของเสียออกมาทางปัสสาวะได้

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 11 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--