ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวหน้า - แพทย์หญิงวันทนี วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกภายหลังพบผู้ป่วย เสียชีวิตที่เขตห้วยขวาง ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญรณรงค์ให้ความรู้ การป้องกันควบคุมโรค และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมาอย่างต่อเนื่อง ในกรณีพบผู้ป่วยเสียชีวิตที่สงสัยว่าเป็น โรคไข้เลือดออกนั้น สำนักอนามัยโดยกองควบคุมโรคติดต่อ ได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (Bangkok SRRT) ลงพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรค เบื้องต้นพบว่าผู้เสียชีวิต เป็นหญิง อายุ 21 ปี มีโรคประจำตัวคือโรคไต เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่หากเป็นไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดีสำนักอนามัยได้ประสานสำนักระบาดวิทยาตรวจสอบ เพื่อยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกหรือไม่ ขณะนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้

จากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยที่พบมีอายุเพิ่มขึ้นซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่าหากรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะ ในกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก เด็กอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบมีอัตราผู้ป่วยมากที่สุด ในเขตบางกะปิ สวนหลวง และจตุจักร ตามลำดับ สถิติในปี 2556 มีผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนทั้งสิ้น 15,000 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวอยู่ และรายงาน สถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2557 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 4 มีนาคม 2557 มีผู้ป่วยสะสมทั่วประเทศ รวม 2,523 ราย คิดเป็น 3.93 ต่อแสนประชากร ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 74.3 กลุ่มอายุที่พบสูงสุด 15-24 ปี มีผู้ป่วยเสียชีวิตรวม 2 รายที่จังหวัดนครปฐม เฉพาะกทม.มีผู้ป่วย 485 ราย คิดเป็น 8.55 ต่อแสนประชากร

แพทย์หญิงวันทนีกล่าวอีกว่า วงจรชีวิตของยุงทุกชนิดสั้นลงทำให้ช่วงนี้ทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ พบยุงมากขึ้น สำนักอนามัยประสานเขตดำเนินการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุง และรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มข้น แนะประชาชนสังเกตอาการหากพบมีไข้สูง 38-39 เกิน 2 วันควรรีบไปพบแพทย์ ทันที และพื้นที่ใดพบผู้ป่วยไข้เลือดออกให้แจ้ง กทม.เพื่อจะได้ส่งทีม SRRT ไปสอบสวนและดำเนินการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ไม่ให้เกิดการระบาด

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือนและชุมชนที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมาก 60-70% โดยใช้มาตรการ 5 ป ได้แก่ ปิดฝาไม่ให้ยุงลายลงไป วางไข่ เปลี่ยนน้ำขัดล้างภาชนะขังน้ำทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ภายใน/นอกบ้าน และปฏิบัติให้เป็นนิสัย จะเป็นการตัดวงจร ของโรคไข้เลือดออก ลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  วันที่ 11 มีนาคม 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง