ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในการรักษาพยาบาลเพื่อให้ครอบคลุมคนไทยทุกคน รวมถึงคนซึ่งอยู่ในประเทศไทยมานานหลายสิบปี แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยที่ยังคงรอการพิสูจน์สถานะ โดยคนกลุ่มนี้มีทั้งชาวเขาเผ่าต่างๆ ชาวม้งที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบของประเทศไทย และกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่อยู่ในประเทศไทยมานาน 50-60 ปี ที่เรียกว่า อากง อาม่า แต่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิ์ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากถูกจำกัดให้ดำเนินการเฉพาะผู้ที่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลักเท่านั้น ที่ผ่านมาจึงได้เกิดการผลักดันคืนสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งถือว่าเป็นคนไทยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้มีจำนวนกว่า 4 แสนคน

ด้วยเหตุนี้จึงมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ให้มีการคืนสิทธิการรับบริการรักษาพยาบาลสาธารสุขให้กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเหล่านั้น โดยให้งบประมาณในรูปแบบเหมาจ่ายรายหัว แต่ให้แยกการบริหารออกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็น “กองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ” โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดการกองทุนดังกล่าว และได้มีการดำเนินงานประสานการทำงานร่วมกัน ทำให้กลุ่มบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์เหล่านี้สามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลโดยมีระบบหลักประกันสุขภาพรองรับ

แต่เรื่องนี้กลับเป็นประเด็นร้อนระหว่าง สธ. และ สปสช. อีกครั้ง หลังมีการนำเสนอข่าว “การลอยแพบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์” ที่เป็นผลจากการปรับฐานทะเบียนผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีการตรวจสอบพบกลุ่มคนที่ต้องกลับไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลในกองทุนบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ 95,071คน จึงมีการตัดรายชื่อออกจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามกฎหมาย เป็นเหตุให้บุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์กลุ่มนี้ไม่สามารถใช้สิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ แต่ยังคงรับบริการรักษาฟรีได้ภายใต้กองทุนรักษาพยาบาลบุคคลรองพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ หลัง สธ.ทำการปรับทะเบียบผู้มีสิทธิ์ในกองทุนนี้ และเรื่องนี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน์ได้รับเรื่องร้องเรียน และได้การเรียกผู้แทนจาก สธ.และ สปสช.เข้าให้ข้อมูล

ประเด็นที่ต้องตามต่อคือ ระหว่าง สธ. และ สปสช. หน่วยงานใดกันแน่ที่ปล่อยลอยแพการรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ 95,071 คน นี้

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวชี้แจงถึงที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ในช่วงเริ่มต้นกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทาง สปสช.และ สธ.ได้มีการประสานทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการปรับปรุงฐานข้อมูลทะเบียบผู้มีสิทธิ์ที่มีการดำเนินการทุกวันที่ 15 ของเดือน เพราะข้อมูลบุคคลที่เข้าออกสิทธิจะมีตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อช่วงต้นปี 2556 ทาง สธ.ได้มีการเปลี่ยนทีมคณะทำงาน  ทำให้ขาดการประสานงานตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา ส่งผลให้การปรับปรุงข้อมูลผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ สปสช.บริหารมีความคลาดเคลื่อนเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้จึงได้หารือกับทางสำนักงานทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง โดยนำส่งข้อมูลในช่วง 1 ปี ที่มีปัญหาการประสานงานกับทาง สธ. ไปตรวจสอบ และพบว่าในจำนวนผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพ มีจำนวน 95,071 ราย ที่เป็นบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ โดยคนกลุ่มนี้ถูกโอนมายังระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในช่วงที่มีการโอนสิทธิจากบัตร สปร.500 บาทมา ซึ่งเมื่อมีการตรวจพบ ทางสำนักงานทะเบียนราษฎร์จึงเห็นสมควรให้ สปสช.โอนคนกลุ่มนี้กลับไปยัง สธ. เพื่อเข้าสู่กองทุนรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์แทน ซึ่งทันทีที่ สธ.ขึ้นทะเบียคนเหล่านี้ก็จะได้สิทธิ์รักษาพยาบาลทันที

“เมื่อได้รับแจ้งจากสำนักทะเบียนราษฎร์ สปสช.จึงได้ทำหนังสือเลขที่ สปสช.2.56/06725 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2556 เพื่อประสานไปยัง สธ. ในการขอให้คืนสิทธิกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น แต่ประเด็นคือ สธ.เองก็ยังไม่นำข้อมูลที่ สปสช.นำส่งไปปรับปรุงฐานข้อมูลในระบบ ส่งผลให้คนเหล่านี้เมื่อไปใช้บริการจึงกลายเป็นคนไม่มีสิทธิ์รักษาพยาบาล จึงกลายเป็นปัญหาขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวว่า ขณะเดียวกันในข้อมูลทะเบียนบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ แต่ละปีจะมีผู้ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งในปีนี้มีจำนวน 7,062 คน ซึ่งก็ต้องถูกปรับออกจากฐานข้อมูลกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ของกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน เพื่อให้คนเหล่านี้ขึ้นทะเบียนกองทุนรักษาพยาบาลตามสิทธิ์ใหม่ที่ได้รับ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น

ขณะที่ท่าทีของกระทรวงสาธารณสุขในประเด็นดังกล่าว ได้มีการชี้แจงจาก นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุเพียงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สปสช.ไม่มีแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ สธ.ทราบอย่างเป็นทางการ  แต่กลับไม่มีการระบุว่าจะนำกลุ่มบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิ์ในกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์หรือไม่ เพียงแต่รับรองว่าโรงพยาบาลสังกัด สธ.ยินดีคงให้การรักษาแบบไม่มีเงื่อนไข และถือเป็นหน้าที่และจรรยาบรรณวิชาชีพเท่านั้น

กลายเป็นประเด็นตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด สธ.จึงไม่ขึ้นทะเบียนคนรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ 95,071 คน ตามการตรวจสอบของทางสำนักทะเบียนราษฎร์ หรืออาจมาจากกรณีการขึ้นทะเบียนบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์จำนวน 65,689 คนก่อนหน้านี้ เพื่อทดแทนผู้มีสิทธิ์ที่ถูกจำหน่ายชื่อออกจากการปรับปรุงทะเบียน จึงเป็นเหตุให้ สธ.ไม่สามารถคืนสิทธิ์รักษาพยาบาลกองทุนรักษาพยาบาลผู้รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ ตามที่สำนักทะเบียนราษฎร์ตรวจสอบได้ เนื่องจากจะเกินจำนวนงบประมาณที่ ครม.ได้อนุมัติ 4.5 แสนราย 

จากประเด็นข้างต้นคงต้องรอดูว่า สธ.จะมีการดำเนินการอย่างไร ทั้งในกลุ่มบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ 95,071 คนที่รอการขึ้นทะเบียน และกลุ่มบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ 65,689 คน ที่ยังต้องรอพิสูจน์ว่าเข้าข่ายเข้ารับสิทธิ์รักษาพยาบาลตามที่ ครม.อนุมัติหรือไม่ ซึ่งทาง สธ.ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว

นอกจากนี้งบประมาณยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาและต้องเคลียร์ระหว่างสองหน่วยงานนี้เช่นกัน เนื่องจาก สธ.เตรียมเรียกงบเหมาจ่ายรายหัว 95,071 คน ท สปสช.จะโอนคืนสิทธิ์กองทุนรักษาพยาบาลบุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ ขณะที่ในการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ทาง สปสช.ได้ยืนยันว่า ในการของบเหมาจ่ายรายหัวระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2557 ไม่ได้รวมเสนอของบกลุ่มคนที่จะโอนคืนสิทธิ์บุคคลรอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ 95,071 คน แต่ตรงข้ามกลับได้รับภาระคนกลุ่มนี้แทน สธ.ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา