ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ชี้คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น เตือนประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงหันมาดูแลสุขภาพเพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคไต   

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สมาคมโรคไตนานาชาติได้กำหนดให้ทุกวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมเป็นวันไตโลก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2557  กรมการแพทย์  จึงมีความห่วงใยประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์โรคไตในปัจจุบัน  เนื่องจากโรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ไตเกิดความผิดปกติ เกิดจาก โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  โรคพันธุกรรมทางไต หรือการใช้ยามากเกินปริมาณที่กำหนด โดยเฉพาะยาที่เป็นพิษต่อไต ประเภทยาแก้ปวดข้อ ยาคลายกล้ามเนื้อ  โดยอาการแสดงของโรคที่พบได้คือ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด บวมที่หน้า เท้า ปวดหลัง ปวดเอว  เบื่ออาหาร คลื่นไส้และความดันโลหิตสูง  

ทางการแพทย์ได้แบ่งขั้นตอนในการรักษาโรคไตออกเป็น 4 ระดับ คือ 1. ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของโรค ซึ่งจะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี  2.การรักษาที่สาเหตุของโรค เช่นการหยุดยาซึ่งเป็นพิษต่อไต  การควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง 3. การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไตได้แก่ การควบคุมอาหารให้เหมาะกับการทำงานของไตที่เหลืออยู่ การใช้ยาเพื่อช่วยปรับสารต่างๆที่เป็นพิษต่อไต   4. การล้างไตและการผ่าตัดปลูกถ่ายไต  

เมื่อไตวายมากขึ้นจนเข้าระยะสุดท้าย  ผู้ป่วย จะได้รับการรักษาด้วยการล้างไต หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยการล้างไต มี 2 วิธี คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการล้างไตทางช่องท้องซึ่งพบว่าผลการรักษาทั้ง 2 วิธีได้ผลใกล้เคียงกัน  ดังนั้นเพื่อเป็นการลดอัตราผู้ป่วยโรคไตให้น้อยลง จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยปรับพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง งดอาหารรสเค็มจัด ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว   หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ   ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินมาตรฐานเพราะอาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไตได้ หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด  ยาชุด   โดยไม่ปรึกษาแพทย์ งดบุหรี่   งดดื่มสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี