ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คนไทยตายเพราะสูบบุหรี่ปีละ 5 หมื่นคน ขณะที่คนไม่สูบบุหรี่แต่ต้องรับควันบุหรี่มีถึง 11.5 ล้านคน เสนอใช้ใช้โอกาสวันสิทธิผู้บริโภค ชวนครอบครัวผู้ป่วยและตายจากใช้สินค้ายาสูบยื่นฟ้องบริษัทบุหรี่เรียกค่าชดเชยความเสียหาย
       
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า เนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งตรงกับ วันที่ 15 มีนาคม เสนอให้ครอบครัวผู้ที่ป่วยและเสียชีวิตจากการใช้สินค้ายาสูบ ใช้สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและเรียกค่าชดเชยความเสียหาย โดยการฟ้องบริษัทบุหรี่ ซึ่งนอกจากจะสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสากลแล้ว ยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 61 ด้วย และหากพิจารณาจากสิทธิผู้บริโภคสากล ยาสูบน่าจะถูกจัดเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย โดยยาสูบขัดกับสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้า จากการที่ยาสูบทำให้ครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่ในระยะยาวเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 
       
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละห้าหมื่นคน แต่ละคนอายุสั้นลง 12 ปี และป่วยหนักจนสูญเสียคุณภาพชีวิตคนละ 2 ปีก่อนตาย สินค้ายาสูบยังนำไปสู่การขัดต่อสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย โดยควันบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และมีคนไทย 11.5 ล้านคนที่ไม่สูบบุหรี่แต่ต้องได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีสิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่บริโภค ซึ่งเป็นที่มาของการที่ประเทศต่างๆ มีการออกกฎหมายกำหนดให้มีการพิมพ์ภาพคำเตือนโรคต่างๆ บนซองบุหรี่ การที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศขยายขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จาก 55 เป็น 85% เมื่อปีที่แล้วก็ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงพิษภัยอันแท้จริงของยาสูบ แต่ประกาศดังกล่าวก็ยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้ 
       
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จากการที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ อันได้แก่ ฟิลลิป มอร์ริส เจแปน โทแบคโก และบีเอที ได้ฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อยับยั้งการบังคับใช้และขอให้มีคำสั่งศาลให้ประกาศดังกล่าวเป็นโมฆะ พฤติกรรมของบริษัทบุหรี่ทั้งสามจึงเป็นการขัดขวางสิทธิของผู้บริโภค สมควรที่ทุกฝ่ายในสังคม จะประณามการกระทำของบริษัทบุหรี่ทั้งสามที่ขัดขวางมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และด้วยเหตุที่สินค้ายาสูบส่งผลเสียต่อผู้บริโภคนานัปการดังกล่าวแล้ว ประเทศทั่วโลกจึงร่วมกันกำหนดอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชากรโลกทั้งที่มีชีวิตในปัจจุบันและในอนาคตจากสารพัดพิษภัยของยาสูบ