ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะทำงานประสานและอำนวยการ การคุ้มครองความมั่นคงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และบุคคลในครอบครัว ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิร่วม เพื่อติดตามการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลกับกองทุนค่ารักษาพยาบาลท้องถิ่น กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในหน่วยบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ หลังมีการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ 689,471 คน ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงแล้ว 330,101 คน จาก อปท. 7,851 แห่ง เดิมวางระบบว่าหากเข้าโรงพยาบาลวันแรกสามารถเบิกได้ทันที แต่ที่ผ่านมามีปัญหาในการจัดการ เนื่องจากระบบโรงพยาบาลจะตรวจสอบสิทธิตามรอบทุกวันที่ 4 และ 19 ของทุกเดือน ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิเบิกตรงได้ ยกเว้นมีความจำเป็นเร่งด่วน จะต้องขออนุมัติเป็นรายบุคคล

"แนวทางการแก้ไข ต้องใช้หลักเกณฑ์เหมือนการเบิกจ่ายของข้าราชพลเรือนสามัญ โดยมีการสแกนลายนิ้วมือล่วงหน้าในโรงพยาบาลข้างเคียงก่อนเข้ารับบริการไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับผู้มีสิทธิและผู้มีสิทธิร่วม ส่วนการสำรองเงิน พบการเบิกเงินคืนจาก สปสช. ล่าช้า อปท.หลายแห่งไม่สามารถใช้สิทธิเบิกตรงได้ทันที จึงสำรองจ่ายเงินให้ก่อน โดยเอกสารมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงปัจจุบันยังเบิกเงินไม่ได้ สาเหตุที่ล่าช้า เนื่องจาก สปสช.ต้องตรวจสอบสิทธิว่ามีการเบิกจ่ายเกินสิทธิหรือไม่ ทำให้ขณะนี้ ณ วันที่ 9 มีนาคม มีใบเสร็จทั้งสิ้น 85,684 ใบ ตรวจสอบแล้ว 42,813 ใบ อนุมัติ 36,663 ราย ไม่อนุมัติ 6,150 ราย" นายศักดิพงศ์กล่าว และว่า

ส่วนสาเหตุที่ สปสช.ไม่สามารถโอนเงินให้ อปท.ได้ เนื่องจาก อปท. บางแห่งไม่มีเลขบัญชี และหน้าบัญชีธนาคาร ตามที่ สปสช. กำหนด, บางกรณีโอนเงินผิดบัญชี ล่าสุด สปสช.ต้องเรียกเงินจาก อปท.ที่เบิกจ่ายด้วยใบเสร็จ เป็นเงิน 158,652,084.72 บาท อย่างไรก็ตาม ทุกเดือนจะมีการประชุมคณะกรรมการกองทุน เพื่อรับทราบและแก้ปัญหาร่วมกัน

"ยอมรับว่าการดำเนินการช่วงแรกจะมีปัญหา แต่ สปสช.จัดระบบให้คล่องตัว โดยเฉพาะการรับรักษาโรงพยาบาลในเขตพื้นที่เขต สปสช. ข้อมูลน่าจะออนไลน์ได้" นายศักดิพงศ์กล่าว

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--