ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จี้ โครงการยาต้านไวรัสเอดส์ บัตรประกันสุขภาพต่างด้าวของสธ. จ่ายยาเอฟฟาไวแรนซ์ให้แรงงามข้ามชาติ หลังยาหมดสิทธิบัตร

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ยาเอฟฟาไวแรนซ์ (efavirenz) ซึ่งเป็นหนึ่งในยาต้านไวรัสเอดส์ ได้หมดอายุสิทธิบัตรลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงยามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาการเข้าถึง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนชายขอบ เพราะแม้ว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยจะได้มีการประกาศซีแอล (ประกาศสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา) ในยาเอฟฟาไวเลแรนซ์นี้ แต่กำหนดให้ยาที่ทำซีแอลจ่ายได้เฉพาะกับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการเท่านั้น ส่งผลให้ไม่ครอบคลุมคนกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ภายหลังจากที่ยานี้หมดอายุสิทธิบัตรลง จะทำให้ราคายาต้านไวรัสนี้ถูกลงอย่างมาก

“ยาเอฟฟาไวเนซ์แรนซ์เป็นยารายการแรกของการทำซีแอลที่หมดอายุสิทธิบัตรลง ซึ่งหลังจากนี้ทั้งทางโครงการที่ช่วยเหลือการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ อย่างโครงการนภา จะไม่มีข้ออ้างเรื่องราคาในการสั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยอีกต่อไป รวมถึงโรงพยาบาลที่ขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่ไม่รวมการจ่ายยาเอฟฟาไวแรนซ์ เพราะยานี้จะมีราคาที่ถูกลงมากหลังหมดสิทธิบัตรลงแล้ว สามารถจ่ายยาให้กับผู้ติดเชื้อได้ ซึ่งจะไม่มีข้ออ้างอีกต่อไป” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว และว่า ทั้งนี้ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ทางมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เตรียมจัดเวทีพูดคุย โดยจะเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวมพูดคุยและให้มีการจ่ายยาเอฟฟาไวแรนซ์อย่างทั่วถึง

นายนิมิตร์ กล่าวว่า สำหรับยาเอฟฟาไวแรนซ์ก่อนทำซีแอล ราคาจะอยู่ที่ 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน ไม่รวมยาต้านไวรัสอื่นที่เป็นสูตรผสมพื้นฐาน แต่ภายหลังจากทำซีแอลแล้ว ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้นำเข้ายาสามัญจากประเทศอินเดียเหลือเพียง 500 บาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งขณะนั้นบริษัทยาที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรได้ลดราคายาทั่วโลกลงมาอยู่ที่ 600-700 บาทเท่านั้น ซึ่งหลังจากหมดสิทธิบัตรลง ราคายาจะถูกลงไปอีก และควรให้ อภ.เตรียมการผลิตเพิ่ม เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม

นายนิมิตร์ กล่าวว่า สำหรับยาเอฟฟาไวแรนซ์นี้ เป็นยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน 2 ซึ่งแพทย์จะสั่งจ่ายให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีกรณีที่มีอาการแพ้ยาต้านไวรัสสูตรพื้นที่ 1 ที่มียาลิโทนาเวียร์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งผู้ติดเชื้อที่มีอาการแพ้ต้องเปลี่ยนมาใช้ยาเอฟฟาไวแรนซ์นี้คาดว่ามีประมาณ 10% ของผู้รับยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน 1 หรือประมาณ 10,000 คน ส่วนยาต้านไวรัสที่คาดว่าจะหมดสิทธิบัตรถัดไป คือยาต้านไวรัสสูตรผสมโลพินาเวียร์กับลิโทนาเวียร์ ซึ่งหมดสิทธิบัตรลงในเดือนธันวาคม 2559