ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บ้านเมือง - อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ซึ่งเป็นบุคคลที่สมัครใจเสียสละทำงานเพื่อสังคมโดยส่วนรวมในด้านการดูแลสุขภาพตามแนวนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข รับเงินเดือน ณ วันนี้ ที่มีอยู่ประมาณ 1,040,000 คน ซึ่งตัวเลขดูเหมือนค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบต่อสัดส่วนต่อประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณกว่า 64 ล้านคนนั้นยังไม่เพียงพอ อสม.จำเป็นต้องพัฒนาขยายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพควบคู่กันไป ในเรื่องนี้ นาวาอากาศตรีนายแพทย์ บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดเผยถึงแนวคิดในการพัฒนา อสม. และนโยบายในปีนี้ว่า "กรมฯ จะเน้นให้ อสม.ก้าวสู่การเป็นนักจัดการสุขภาพชุมชนทุกกลุ่มวัย โดยพัฒนา อสม. ให้มีความเชี่ยวชาญตามหลักสูตรในแต่ละระดับ พร้อมการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดีของ อสม. ให้เป็นที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น  และการจัดงานวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติปี 2557 นี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19 20 มีนาคม 2557 ที่ โรงแรม เดอะ รีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท จ.เพชรบุรี โดยมีการมอบรางวัล อสม.ดีเด่น รางวัลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ อสม. ต่อเนื่องกันมาทุกปี"

20 มี.ค ของทุกปีเป็นวันที่แสดงถึงคุณงามความดี ของ อสม.ที่มีจิตใจ เสียสละ มุ่งมั่นที่จะดูแลสุขภาพประชาชน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์ บุญเรืองไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญและบทบาทของ อสม. ว่า"วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญมากๆ ความเป็นมาของ อสม. โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ดำเนินงานมาในปีนี้เป็นปีที่ 36 แล้ว อสม.ถือว่าเป็นผู้ที่มีจิตอาสาในการที่จะดูแลสุขภาพของประชาชน โดยผ่านการคัดเลือก การอบรม และแต่งตั้งให้เป็น อสม.ประจำแต่ละพื้นที่ ถือว่า อสม.ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านสุขภาพเบื้องต้นในการที่จะดูแลสุขภาพของประชาชน และ อสม.จะได้มีบทบาทหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนให้การดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น งานต่างๆ ที่อสม.ได้ทำมานี้ เกิดประโยชน์เป็นอย่างมากกับประชาชนในเรื่องของสุขภาพ ฉะนั้นจึงได้กำหนดให้มีวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติขึ้นมา ตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยถือเอาวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่แสดงถึงคุณงามความดีของ อสมม. ที่มีจิตใจเสียสละ มุ่งมั่นในการที่จะดูแลสุขภาพประชาชนด้วยความศรัทธาและก็ด้วยความเสียสละในภารกิจตรงนี้

ตอกย้ำ อสม.เป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน ดูแลสุขภาพของประชาชนตามกลุ่มวัยได้อย่างครอบคลุม

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ กรมฯ มีนโยบายในเรื่องของการที่จะป็น อสม.นักจัดการสุขภาพชุมชน จากเดิมกว่าจะมาเป็น อสม. ได้จะต้องผ่านการฝึกอบรม เรียกว่า เป็นหลักสูตร อสม.ขั้นพื้นฐาน ขั้นปฏิบัติการ คือเมื่อเข้ามาเป็น อสม.จะต้องผ่านการอบรม 5 วัน ให้เป็น อสม.ขั้นพื้นฐาน หลังจากนั้นก็จะมีการอบรม อสม.ให้เป็น อสม.เชี่ยวชาญ และสุดท้ายเมื่อเชี่ยวชาญมากขึ้นก็จะเป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน ซึ่งในปีนี้ต้องการให้เป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน ดูแลสุขภาพของประชาชนตามกลุ่มวัยได้อย่างครอบคลุม อันนี้เป็นครั้งแรก ที่เราจะจัดการพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้มีความรู้ มีความชำนาญ ในการจัดการระบบสุขภาพได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การค้นหาปัญหา การวิเคราะห์สาเหตุ การแก้ไขปัญหาสุขภาพ การปฏิบัติการ รวมทั้งการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ ตรงนี้คือการพัฒนา อสม.ให้ไปสู่การดูแลการจัดการสุขภาพชุมชนตามกลุ่มวัย ตั้งแต่วัยแรกคลอด วัยเด็ก วัยรุ่น วัยแรงงาน วัยผู้สูงอายุ ได้อย่างครบทุกวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต่อไป

ผู้ที่มาเป็น อสม.จะต้องได้รับการประเมินคุณภาพมาตรฐาน

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบสุขภาพเพื่อประชาชนของประเทศโดยรวม และมีหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนา อสม. ซึ่งเราจัดหลักสูตรไว้ในแต่ละระดับดังกล่าวข้างต้น โดยมีกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชนเป็นผู้ดูแล อสม. ให้ได้รับการพัฒนา ได้รับความรู้ ให้มีศักยภาพ ในการเข้ารับการอบรมในแต่ละหลักสูตร ตั้งแต่หลักสูตรพื้นฐาน หลักสูตรผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงหลักสูตรนักจัดการสุขภาพ

สำหรับ อสม.เมื่อผ่านการอบรมแล้ว จะมีการประเมินคุณภาพว่า สิ่งที่ อสม.อบรมไปแล้วสามารถไปใช้ในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยมีการวัดผล อสม. ตั้งแต่ตอนที่เข้ารับการอบรม คือจะต้องผ่านเกณฑ์การอบรมอย่างน้อย 60%เมื่อไปปฏิบัติงานแล้วจะต้องสามารถปฏิบัติงานและมีผลงานอย่างน้อย 80% ของที่ตั้งเป้าหมายไว้ ฉะนั้นผู้ที่มาเป็น อสม.จะต้องได้รับการประเมินคุณภาพมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตาม จำนวน อสม.ขณะนี้มีอยู่ 1,040,000 คนตรงนี้ บางคนผ่านการฝึกอรมมานานแล้ว บางคนความรู้เริ่มลืมเลือนไปก็จะมีการทบทวนองค์ความรู้ และมีการวัดผลใหม่อีกครั้ง

ในการประเมินผลผู้อบรม อสม. เราดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2521 จนกระทั่งถึงขณะนี้ 36 ปี ตั้งแต่เดิมไม่ได้มีการประเมินเป็นระบบแต่มีการวัดผลจากงานที่ อสม.โดยรายงานตรงต่อทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขว่าได้ทำอะไรบ้าง และการติดตามผู้ป่วยเป็นอย่างไรบ้าง ตลอดจนการให้คำแนะนำทำอะไรต่างๆ รวมทั้งการคัดกรองผู้ป่วยต่างๆ เราดูจากเนื้องานที่นำไปรายงานผล ส่วนใหญ่จะสามารถรายงานผลได้ครบทุกด้าน ทว่าในเรื่องของการประเมินความรู้และประเมินวิชาการเราเพิ่งจะเริ่มในปีนี้

สุขภาพที่ดีของ อสม.เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจในลำดับแรก

อสม. ถือว่าเป็นผู้มีจิตอาสาไม่มีเงินเดือน อาจจะมีค่าตอบแทนให้เป็นรายเดือน แต่ตัวที่เป็นเงินเดือนจริงๆไม่มี จึงเป็นผู้ที่มีจิตอาสา ได้รับความไว้วางใจ มาปฏิบัติงานเพราะฉะนั้นถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละ แต่อย่างไรก็ตามเรายังพบปัญหาในเรื่องของศักยภาพเชื่อว่ามีบางสิ่งที่ยังได้รับการท้วงติงมาในเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ การยอมรับในเรื่องของความรู้ที่จะไปให้คำแนะนำกับผู้ที่มีความรู้เยอะๆ ก็อาจจะไม่เชื่อ อสม. หรืออสม.บางท่านอาจจะประพฤติปฏิบัติตัวยังไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีทางด้านสุขภาพ ตรงนี้เลยคิดว่าจะเป็นโอกาสที่เราจะมาพัฒนา อสม.ให้มีคุณภาพ ให้เป็นตัวอย่างที่ดีทางด้านสุขภาพ อย่างเช่น เรามองว่า โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือโลหิตต่ำ โรคอ้วน ตัว อสม.เองยังมีปัญหาเรื่องพวกนี้จึงอยากจะประเมินและคัดกรอง อสม.ให้มีสุขภาพที่ดี มีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องก่อนที่จะไปดูแลผู้อื่น อันนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่ยังห่วงใยการดูแลสุขภาพของอสม. คิดว่าปีนี้เราจะมีการประเมินพฤติกรรมสุขภาพ อสม.เพื่อนำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต เพื่อให้ อสม.มีสุขภาพที่ดี

จำนวน อสม. ยังไม่เพียงพอต่อสัดส่วนของประชากรทั้งประเทศ

ขณะนี้เรามีประชากรประมาณ 60 ล้านคน ซึ่งเรามี อสม. 1,040,000 คน เมื่อเทียบตามสัดส่วนแล้ว อสม. 1 คน ควรดูแล 15 หลังคาเรือน แต่โดยความเป็นจริงขณะนี้เราไม่ได้เป็นไปตามสัดส่วนนั้น คือ อสม. 1 คน ดูแลถึงคนในชุมชน 20-25 หลังคาเรือน ถ้าถามว่า อสม.ควรจะมีมากกว่านี้ไหม คิดว่าจะต้องมีจำนวนมากกว่านี้อย่างน้อยขั้นต่ำ 1 - 5 แสนคน แต่ต้องใช้งบประมาณเป็นค่าป่วยการเดือนละ 600 บาท/คน หากขยายอีก 3-4 แสนคน เราต้องใช้เงินถึง พันล้านบาท เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ยังเป็นปัญหาทางด้านงบประมาณอยู่ เราจึงแก้ไขโดยวิธีการที่ให้มีผู้ช่วยที่ไม่ได้รับเงินค่าป่วยการ แต่ว่ามีจิตอาสาที่จะเข้ามา

ภาคที่มี อสม.มากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพราะประชากรเขามีมาก ภาคที่น้อยที่สุดเป็นภาคใต้ตามสัดส่วนของประชากรเช่นกัน สำหรับ กรุงเทพฯ มี อสม.อยู่ประมาณ 11,000 คน ถ้าเทียบต่อประชากร 10 ล้านคนควรจะมี อสม. 50,000 คนถึงจะเหมาะสมกับไสัดส่วนของประชากรในกรุงเทพฯ แต่โดยสรุปแล้วสัดส่วนของ อสม.ขณะนี้เรายังต้องการเพิ่มอีกจำนวนมาก

กรมสนับสนุนฯ จัดที่ทำการ อสม. ตาม 12 สำนักงานเขตเพื่อเป็นจุดศูนย์รวม

สำหรับสถานที่ทำการ เนื่องจากอสม. ไม่ใช่เป็นเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่เป็นข้าราชการ อสม.คือ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้น เขาจะไม่มีผู้บังคับบัญชา ไม่เหมือนกับข้าราชการที่มีหน่วยงาน แต่อสม.แต่ละพื้นที่จะมีที่ทำการของเขา อย่างเช่น อาจอยู่ที่บ้านของประธาน อสม. หรืออยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่ที่ทำการของ อสม.จึงมีหลากหลาย คือจากแต่ละพื้นที่แบ่งออกมาเป็นว่า แต่ละจังหวัด 76 จังหวัด ก็จะมีประธานจังหวัด ประธานจังหวัดก็จะตั้งเป็นชมรม หรือสมาคม อสม.จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ พอไปถึงระดับอำเภอก็จะมีประธานอำเภอ ไปถึงตำบลก็มีประธานตำบล ซึ่งที่ทำการส่วนใหญ่ก็จะไปอยู่ในพื้นที่ ในบ้านของประธานนั้นๆ ดังนั้นในปีนี้เรามีนโยบายที่จะให้ อสม.มีสถานที่ทำงาน คือ เราแบ่งเป็นเขต เขตในราชการทั้งหมดมี 12 เขต ครอบคลุมทั้ง76 จังหวัด และเขตหนึ่งก็จะมี7-8 จังหวัด เรามีสำนักงานของกรมฯที่ไปตั้งอยู่ที่เขตทั้งหมด 12 เขต 12 สำนักงาน ได้จัดพื้นที่ ที่ทำการของ อสม.ที่ประจำเขตไปอยู่ที่สำนักงานเขตของเขาจะได้เป็นจุดศูนย์รวมในการปฏิบัติงาน

อสม.ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

ในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ โดยปกติแล้ว กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะมีงบประมาณประจำปีจากรัฐบาลอยู่แล้วในการพัฒนา อสม.ทั้งหลักสูตรพื้นฐาน หลักสูตรเชี่ยวชาญ และหลักสูตรนักจัดการสุขภาพ รวมถึงเรื่องของการจัดสรรวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ อย่างเช่น เครื่องตรวจน้ำตาล เครื่องวัดความดัน เครื่องชั่งน้ำหนัก ปรอทวัดอุณหภูมิต่างๆ เป็นต้น ขณะเดียวกัน เครื่องใช้ของสำนักงานที่จะให้ อสม.ดำเนินงานส่วนใหญ่ทางชมรมหรือสมาคมเองเขาจะมีกิจกรรมของเขาอยู่ เขาจะจัดหาของเขาเอง โดยส่วนหนึ่งสนับสนุนจากกรมฯ ซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดินในการพัฒนาและจัดอุปกรณ์ทางการแพทย์ อีกส่วนหนึ่งก็คือ ใช้ในเรื่องของสำนักงานด้านธุรการช่วยกันจัดหาให้ นอกจากนั้นยังได้รับความสนับสนุนจากบริษัทเอกชนที่ได้บริจาคเป็นทุนให้กับชมรมหรือสมาคม อีกส่วนหนึ่งก็ได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. เทศบาล ที่เข้ามาช่วยเยอะ เช่นที่จังหวัดสระบุรี กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ. ในแต่ละปีก็มีการสนับสนุนเครื่องมือสื่อสารด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์ในสำนักงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการดีที่ อสม.ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

เชิญร่วมงานวัน อสม. 19-20 มี.ค. ที่ โรงแรม เดอะ รีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท

ในปี 2557 เป็นปีที่ 36 สำหรับเรื่องของวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติปีนี้เรามีคอนเซ็ปต์การจัดงานก็คือ อสม. นักการจัดการสุขภาพชุมชน ทุกกลุ่มวัย หมายความว่า อสม.จะเป็นผู้ที่ดูแลสุขภาพในชุมชนได้อย่างครบวงจร และก็สามารถให้ทุกกลุ่มวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ส่วนรูปแบบในปีนี้จะเป็นเรื่องของการมอบรางวัล มอบโล่ห์ให้กับอสม.ดีเด่นทั้ง 10 สาขา แต่ละปีเราคัดเลือกมาตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เขต และภาค จนเข้ามาเป็นระดับชาติก็จะได้ทั้งประเทศ 10 สาขา 10 คนที่ดีเด่น ร่วมกับผู้ที่ปฏิบัติงานดีเด่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 4 คน และในส่วนของ กทม.อีก 1 คน ทั้งหมดจะเป็น 15 คน ที่ได้รับรางวัลระดับชาติ อีกส่วนหนึ่งก็คือ ผู้ที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ เหรียญเงิน และเหรียญทอง โดยคัดเลือกมาจากผู้ที่ทำงานดีเด่นมาอย่างต่อเนื่อง 5-10 ปี ก็จะได้รับพระราชทานเครื่องราชฯนี้

นอกจากนี้จะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการที่ชนะเลิศจำนวน 10 สาขา อาทิ สาขานมแม่สายใยรักแห่งครอบครัว สาขาสุขภาพจิตชุมชน สาขาป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนสาขาการส่งเสริมสุขภาพสาขาป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ว่าเขาทำงานอย่างไรถึงได้รับการคัดเลือก อีกทั้งมุมนิทรรศการโชว์ผลงานในแต่ละพื้นที่ สุดท้ายจะเป็นเรื่องของนำเสนอ เส้นทางสู่การเป็น อสม. นักจัดการสุขภาพตามกลุ่มวัย ว่าจะเป็นแกนนำประพฤติปฏิบัติตน อย่างไรบ้างเพื่อที่จะออกมาเป็นนักจัดการสุขภาพดีเด่น

งานวัน อสม.แห่งชาติปีจัดที่โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เริ่มตั้งแต่ วันที่ 19 - 20 มีนาคม 2557 โดยวันที่ 19 มีนาคม จะเป็นงานสำหรับนิทรรศการก่อน เพื่อแสดงผลงานที่ออกตามบูธว่าเป็นอย่างไร และในวันที่ 20 มีนาคม เป็นการรับพระราชทานมอบโล่รางวัล และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับ อสม.ดีเด่นของประเทศ และตามด้วยการประชุมเสวนา การนำเสนอผลงาน การอภิปรายในหัวข้อ อสม.นักจัดการสุขภาพชุมชนตามกลุ่มวัย

โดย ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงานและในการมอบรางวัลเกียรติยศ และเหรียญดิเรกคุณาภรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้มอบรางวัลสำหรับผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในระดับจังหวัดและอำเภอต่อไป

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวปิดท้ายว่า "วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาตินี้จึงถือเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นวันแห่งความภาคภูมิใจและเกียรติยศของ อสม.ที่ได้มีจิตใจเสียสละในการอุทิศตนดูแลสุขภาพของชุมชน ซึ่งเขาได้ทำงานและทุ่มเทมาตลอด และวันนี้เขาได้รับการประกาศเกียรติคุณ ได้รับการยกย่อง ยอมรับจึงเป็นวันที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับ อสม."

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันที่ 19 มีนาคม 2557