ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - กลายเป็นคดีฟ้องร้องในชั้นศาล แม้ท้ายที่สุดศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากลับคำตัดสินศาล ชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กรณีนักศึกษาสาว ชั้นปี 4 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง  ซ้อนท้ายจักรยานยนต์เพื่อนไปชนที่กั้นถนนอย่างแรง ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรง และถูกนำส่งยังโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแถวรังสิต แต่ถูกปฏิเสธการรักษาเพราะไม่มีผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ปล่อยให้นอนรอกว่าครึ่งชั่วโมงและ ให้นำส่งไปรักษาโรงพยาบาลอื่น โดยคำตัดสินชี้ว่า

"การที่พยาบาลปฏิเสธไม่รับผู้ตายเข้ารักษาถือว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย และโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวฐานะนายจ้างมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลให้มีการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพต้องได้รับการรักษาเร่งด่วนเพื่อให้พ้นขีดอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ แต่กลับไม่ควบคุม จึงเป็นการละเมิดต่อโจทย์ที่เป็นพ่อแม่ของนักศึกษารายดังกล่าว และให้จ่ายชำระเงิน 1.6 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยให้กับโจทย์"

เหตุการณ์ข้างต้นนี้ คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และนี่คงเป็นแค่หนึ่งในจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่ประสบปัญหาการเข้าถึงการรักษาช่วงวิกฤติ กลายเป็นช่องว่างของระบบรักษาพยาบาลในทุกระบบ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการบูรณาการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินและผลักดันเป็นนโยบายรัฐบาล ภายใต้หลักการ "เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามถึงสิทธิ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น" โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับมอบหมายบริหารจัดการจ่ายค่ารักษา ประสานกับระบบกองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ช่วยผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาพยาบาลทันท่วงทีในโรงพยาบาลที่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน

ขณะเดียวกันโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยเข้ารักษาก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเรียกเก็บค่ารักษาไม่ได้

หลังเริ่มนโยบายวันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงปัจจุบันสามารถช่วย ผู้ป่วยฉุกเฉินให้เข้าถึงการรักษาได้ โดยเฉพาะกรณีจุดเกิดเหตุเกิดใกล้ โรงพยาบาลเอกชนที่ได้ผลน่าพอใจ โดยเฉพาะความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน เห็นได้จากผลช่วง 2 ปีที่ผ่านมา  มีโรงพยาบาลเอกชนให้บริการฉุกเฉินและเรียกเก็บค่าใช้จ่าย 246 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลเอกชนเขตต่างจังหวัดร้อยละ 52.84 กรุงเทพร้อยละ 30.89 และปริมณฑลร้อยละ 16.26

เมื่อดูข้อมูลผู้รับบริการพบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาฉุกเฉินตามนโยบาย 31,972 คน แบ่งเป็นรับบริการโรงพยาบาลเอกชนต่างจังหวัด 16,774 ครั้ง  เขตกทม. 15,821 ครั้ง และเขตปริมณฑล 4,005 ครั้ง

แม้ว่านโยบายนี้จะได้รับการตอบรับด้วยดี แต่ยังมีปัญหาความไม่เข้าใจการเข้ารับการรักษาอยู่มาก ด้วยเป็นนโยบายจำกัดเฉพาะผู้ป่วยภาวะวิกฤติและฉุกเฉินเท่านั้น แต่ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในคำจำกัดความดังกล่าวเข้ารับบริการ เป็นเหตุให้ส่วนหนึ่ง โรงพยาบาลไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้ ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วยหรือญาติภายหลัง

ทั้งนี้ ผู้เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินที่จะเข้ารับบริการได้ คือ ผู้ได้รับอุบัติเหตุหรือมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน เป็นภยันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการเจ็บป่วยที่จะรุนแรงขึ้น ซึ่งแพทย์และพยาบาลจะเป็นผู้ประเมินตามหลักเกณฑ์การคัดแยกความรุนแรงของการเจ็บป่วยฉุกเฉินนี้ อาทิ ภาวะหัวใจหยุดเต้น ภาวะหยุดหายใจ ภาวะช็อกจากการเสียเลือดรุนแรง ชักตลาดเวลาหรือชักจนตัวเขียว อาการซึม หมดสติ ไม่รู้สึกตัว อาการเจ็บหน้าอกรุนแรงจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่มีความจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มภาวะเฉียบพลันมากหรือเจ็บปวดรุนแรง ที่ต้องรับปฏิบัติการแพทย์อย่างรีบด่วนเช่นกัน แม้ว่ารอการรักษาได้บ้างแต่ไม่นาน ถ้าปล่อยไว้ไม่ให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างถูกต้อง อาจทำให้สูญเสียชีวิตหรือพิการได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง อาทิ ภาวะอาการหายใจลำบากหรือหลายใจเหนื่อยหอบ ชีพจรช้ากว่า 40 หรือเร็วกว่า 150 ครั้ง/นาที  โดยเฉพาะถ้าร่วมกับลักษณะทางคลินิกข้ออื่น ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาต หรือตาบอด หูหนวกทันที ตกเลือด ซีดมากหรือเขียว เจ็บปวดมากหรือทุรนทุราย มือเท้าเย็นซีดและเหงื่อแตก ความดันโลหิตต่ำกว่า 90 มม.ปรอทหรือตัวล่าสูงกว่า 130 มม.ปรอท อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส (อาการเหล่านี้พิจารณาร่วมกับอาการคลินิกอื่น) ถูกพิษ ได้รับอุบัติเหตุ โดยเฉพาะมีบาดแผลที่ใหญ่มากหลายแห่ง และภาวะจิตฉุกเฉิน เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังดำเนินนโยบายพบว่า กรณีการเข้ารักษาภาวะฉุกเฉินเร่งด่วนหรือผู้ป่วยระดับสีเหลือง มีจำนวนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 58 ระดับสีแดง ร้อยละ 37 ส่วนระดับสีเขียนไม่เป็นปัญหา เป็นผู้มีสิทธิระบบสวัสดิการข้าราชการเข้ารับบริการมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 56.56  รองลงมาระบบหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า ร้อยละ 36.76 ครั้ง และระบบประกันสังคมร้อยละ 6.48 เมื่อดูการเบิกจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 - 31 ตุลาคม 2556 พบว่ากรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลเอกชนได้ส่งเบิกจ่ายจากกองทุนมี 23,957 ราย ในจำนวนนี้ อนุมัติเบิกจ่าย 14,091 ราย ไม่อนุมัติเบิกจ่าย 9,866 ราย รวมเป็นเงินเบิกจ่ายจากระบบ 506.98 ล้านบาท

จากปัญหาเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นถึงการเข้ารับบริการฉุกเฉินที่ไม่จำเป็น ไม่เพียงแต่ส่งผลเกิดการเรียกเก็บค่ารักษาภายหลังจากโรงพยาบาลเอกชน กรณีที่เบิกจากระบบไม่ได้ แต่ยังส่งผลต่อผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับรักษาอย่างเร่งด่วน จากภาวะการครองเตียงผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเตียงผู้ป่วยฉุกเฉินที่กันไว้แต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนจำกัด อาจทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเสียโอกาสการรักษา ส่งผลอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้นจนถึงเสียชีวิตได้

'เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตไม่ถามถึงสิทธิใกล้ที่ไหนไปที่นั่น'

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 19 มีนาคม 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง