ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ถึงแม้จะไม่ได้เป็นหมอเหมือนกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลอื่นๆ แต่จากการได้รับรางวัลชัยนาทนเรนทรเป็นเครื่องหมายการันตีได้ว่า ธีระวัฒน์ ผอ.รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า มีความรู้และเข้าใจในธรรมชาติของการเป็นผู้ให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ประกาศชื่อผู้ได้รับ “รางวัลชัยนาทนเรนทร” ปีแรก(ปี 2556 ) โดยมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
รางวัลชัยนาทนเรนทร มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกทั้งหมด 77 ราย โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักการสาธารณสุขดีเด่น คือ นายธีระวัฒน์ แดงกะเปา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  (รพ.สต.)บ้านสี่แยกสวนป่า ตำบลสวนป่า อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลดังกล่าวในสาขาประเภทบริการ

นายธีระวัฒน์ กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลชัยนาทนเรนทร  เพราะที่ผ่านมาตั้งใจที่จะทำงานให้ประชาชนในพื้นที่รับความสะดวกสบาย เมื่อเข้ามาใช้บริการที่ รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า ขณะเดียวกันผู้ร่วมงานจะต้องทำงานด้วยความสุข

​“ที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินว่า บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก ผู้ป่วยมีจำนวนมาก หมอ พยาบาลมีไม่พอกับจำนวนคนไข้ เมื่อเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหา ทาง ทีมงานรพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า จึงร่วมกันคิดว่า อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยกันมาก ผลที่ได้คือ ชาวบ้านมีพฤติกรรมต่างๆที่ก่อให้เกิดโรค เราจึงร่วมกันแก้ไขกันที่ต้นเหตุของปัญหา” ผอ.รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า กล่าว

จากนั้นเป็นต้นมาการดูแลผู้ป่วยของที่นี่จะไม่เพียงแค่รักษาตัวผู้ป่วยเท่านั้น  ทางทีมงานจะเข้าไปดูแลรักษาแบบองค์รวม และดูแลกันจนถึงญาติของคนไข้ การสอบถามสารทุกข์สุขดิบของญาติและผู้ป่วยด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มจะช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดี ยกตัวอย่างเช่น คนพิการที่เจ็บป่วยเข้ามารักษา ทางทีมงานจะสอบถามดูว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดโรค เราจะดูแลแม้กระทั่งว่าความเป็นอยู่ว่าคนพิการคนนี้มีงานทำหรือไม่ ถ้าไม่มีบ้านก่อสร้างบ้านให้ โดยทำผ่านโครงการเพื่อชีวิตที่ดียิ่งกว่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากโอสถสภาปีละ 1 ล้านบาท

นอกจากนี้  ผอ.รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า ยังได้ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพด้วยความคิดที่ว่า สุขภาพที่ดีเราสามารถสร้างขึ้นเองได้ เพียงแต่หาเครื่องอำนวยความสะดวกเล็กๆน้อยๆมาเป็นตัวช่วยได้ ในเมื่อทุกบ้านสามารถเลือกซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆได้ จึงได้สร้างเครือข่ายอาสาสมัครขึ้นมา จัดทำการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และการจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรคได้  เช่น การกินอาหารที่หวาน มัน เค็ม จะก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง โทษของการไม่ออกกำลังกาย เช่น โครงการ รู้แจ้ง เห็นจริง จากทุกข์

โดยให้ผู้ป่วยหลอก (ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ป่วย) มาลงทะเบียนรับการรักษาเหมือนกับผู้ป่วยจริงทุกขั้นตอน จากนั้นให้ผู้ป่วยจริงพาไปดูผู้ป่วยโรคต่างๆที่ต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อชาวบ้านเห็นความทุกข์ของการเกิดโรคจะมีความกลัว และยิ่งถ้าได้วิทยากรที่เคยป่วยมาแนะนำ ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เปิดโอกาสให้เรียนรู้จากของจริงว่า รสชาติ หวาน มันเค็มที่พอดีเป็นอย่างไร ส่งผลให้ชาวบ้านมีความเข้าใจและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ซึ่งเป็นที่มาว่า ที่ตำบลสวนป่า สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานมาได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีมาแล้ว และในปีนี้พบผู้ป่วยโรคความ ดันโลหิตสูงเพียง 2 รายเท่านั้น   ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักน้อยลง สรุปได้ว่า การทำงานเชิงรุกด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักป้องกันตนเองไม่ได้เกิดโรค จะให้ผลดีกว่าการตั้งรับด้วยการรักษา ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และควรนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นด้วย

นายธีระวัฒน์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนแนวคิด ให้มายกย่อง ให้กำลังใจแก่หมอ พยาบาล ที่ช่วยกันทำงานส่งเสริมให้ประชาชนไม่เป็นโรค เหมือนที่เรายกย่องหมอที่เก่งด้านการผ่าตัด หรือโรคต่างๆ ว่าเป็นหมอมือหนึ่ง และอย่างผู้ที่มีสิทธิข้าราชการ ควรจะมีแรงจูงใจบางอย่างถ้าผู้นั้นตลอดทั้งปีไม่เจ็บป่วยเลย ซึ่งจะให้ผลดีทั้งประชาชน คือ การมีสุขภาพที่ดี  ส่วนรัฐบาลจะประหยัดงบประมาณด้านการรักษาได้อีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของบุคลากรด้านสาธารณสุขนั้น  ผอ.รพ.สต.บ้านสีแยกสวนป่า ได้แสดงทัศนคติส่วนตนว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดต่างได้ อย่างส่วนตัวมองว่า ประเทศไทยจะต้องปฏิรูปกันก่อน โดยมีคนกลางที่ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ จากการแสดงออกในท่าทีของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขตนมองว่าอาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างให้สังคมได้รับรู้ แต่สำหรับในพื้นที่ของตนเองหลายคนมีความต่าง กันแต่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ตนอยากใช้ความคิดที่ต่างกันเป็นแรงผลักดันในการทำงานให้ก่อประโยชน์ร่วมกัน เป็นในทางที่สร้างสรรค์

นายธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในการทำงานทุกวันนี้ เราจะไม่เอาปัญหาต่างๆมากองไว้ แล้วพูดถึงการแก้ไขปัญหา แต่เราจะใช้วิธีแก้จากสิ่งเล็กๆไปก่อน เราเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก และที่สำคัญจะต้องมีการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อเข้ามาดูแลระบบสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

​“ทุกวันนี้อยู่อย่างพอเพียง ทำงานทุกวัน ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล สำหรับวิธีเติมกำลังใจให้ตัวเองคือ ก่อนนอนทุกวันจะทบทวนดูว่า วันนี้เรายังไม่ได้ทำอะไรบ้าง พรุ่งนี้จะทำอะไรได้บ้าง ให้กับชุมชนของเรา แล้วจะลงมือทำทันที” ผอ.รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า กล่าวสรุป