ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้แทนกองทุนโลกพอใจ บทบาท อภ.ที่ทำให้เกิดการเข้าถึงยาของประชาชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เปิดเผยว่า คณะผู้แทนจากกองทุนโลก(Local Fund Agent;LFA) ด้าน Pharmaceutical Supply Management (PSM) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ นำโดย Mr.Ron Wehrens,Senior Pharmaceutical Management Advisor; MBA  เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม ในส่วนของคลังยาและเวชภัณฑ์ พร้อมรับฟังการดำเนินงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต การพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานWHO GMP การยื่นขอ WHO Prequalification  และประเมินระบบการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การจัดเก็บ และการกระจายยาผ่านระบบ VMI ไปยังหน่วยบริการทั่วประเทศ    ทั้งนี้เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการให้ทุนกับประเทศไทย ภายใต้โครงการ กองทุนโลกด้านโรคเอดส์ วัณโรค    และมาลาเรีย

ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งกองทุนพิเศษ เรียกว่า กองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย(The Global Fund to fight AIDS,Turberculosis and Malaria : GFATM) จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี 2544  เพื่อช่วยเสริมสร้างการดำเนินงานในการป้องกัน และควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย ที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วในแต่ละประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเน้นเสริมในส่วนขาดของการดำเนินงานภายใต้งานปกติของประเทศ กองทุนโลกจะมีการจัดสรรทรัพยากรให้แต่ละประเทศ โดยผ่านกลไกการทำงานร่วมระหว่างรัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าว จากกองทุนโลกรวมแล้วกว่า 470 ล้านเหรียญสหรัฐ(15,000 ล้านบาท)

ผู้อำนวยการ กล่าวต่อว่า จากการเดินทางเข้ามาตรวจเยี่ยมองค์การฯ ในครั้งนี้ ผู้แทนจากกองทุนโลก มีความพอใจในระบบบริหารกระจายยา และเวชภัณฑ์ขององค์การฯ โดยองค์การฯ ได้กระจายยาและเวชภัณฑ์ไปยังหน่วยบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระจายไปทั่วประเทศกว่า 1,200 แห่ง และนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการคลังยาที่เรียกว่า Vendor Managed Inventory หรือ VMI มาใช้ เพื่อช่วยให้หน่วยบริการสาธารณสุขเหล่านั้น  มียาเพียงพอแก่ผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่าย และลดภาระในการจัดเก็บยาเกินความจำเป็น ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการรักษา ประชาชนได้เข้าถึงยามากยิ่งขึ้น และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนั้น ยังได้พัฒนามาตรฐานคุณภาพการผลิตยาให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP ขององค์การอนามัยโลก ด้วยการก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งใหม่    ที่จังหวัดปทุมธานี และคาดว่าภายใน 2 ปี ผลิตภัณฑ์ยาต้านไวรัสเอดส์ เช่น เอฟฟาไวเรนซ์  ที่ผลิตโดยองค์การฯ จะได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ และบรรจุอยู่ในบัญชีรายชื่อยา สำหรับใช้กับผู้ป่วยเอดส์ที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง

“องค์การฯมีความมุ่งมั่นเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ โดยมุ่งหวังการกระจายยาให้ทั่วถึง และมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งเป็นหนึ่งความเชื่อมั่นที่ประชาชนคนไทยจะมั่นใจได้ว่า องค์การฯ ได้ดำเนินบทบาทเพื่อการเข้าถึงยาอย่างทั่วถึง  มีประสิทธิภาพ และผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล” ผู้อำนวยการฯ กล่าว