ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ท่ามกลางกระแสปฏิรูปประเทศที่ถูกจุดขึ้นมาในขณะนี้ ประเด็นที่ถูกให้น้ำหนักมากที่สุดคงหนีไม่พ้นหัวข้อการปฏิรูประบบการเมืองและการจัดวางพื้นที่อำนาจของคนในสังคมแต่ละกลุ่ม ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็ถูกให้น้ำหนักลดหลั่นกันมา ทั้งการปฏิรูปตำรวจ การกระจายอำนาจการปกครอง ระบบงบประมาณ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเด็นการปฏิรูปแรงงานนั้น แทบไม่ได้ถูกให้น้ำหนักหรือถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวงสังคมเลย ซึ่งก็ยังเป็นคำถามว่าผู้ใช้แรงงานจะได้อานิสงค์จากการปฏิรูปประเทศรอบนี้มากน้อยเพียงใด

บุญยืน สุขใหม่  

บุญยืน สุขใหม่  นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน ที่เพิ่งได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ในปีนี้ รวมทั้งเพิ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็น 1 ในกรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างชุดใหม่ ระบุว่า ปัญหาด้านแรงงานที่จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูป มี 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.แรงงานในระบบ 2.แรงงานนอกระบบ 3.แรงงานต่างด้าว และ 4.ระบบการจ้างเหมาค่าแรง

ในส่วนของแรงงานในระบบนั้น บุญยืน มองว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เริ่มตั้งแต่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ที่ต้องมีการคุ้มครองผู้นำแรงงานหรือนักแรงงานสัมพันธ์ไม่ให้ถูกนายจ้างไล่ออกได้โดยง่าย รวมทั้งคุ้มครองการรวมตัวของผู้ใช้แรงงาน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จำเป็นต้องมีการปรับแก้ เพราะกฎหมายปัจจุบันเปิดช่องให้นายจ้างเลิกจ้างง่ายเกินไปเพราะจ่ายแค่เงินชดเชย ในอัตราต่างๆ สูงสุดคือ 10 เดือนของเงินเดือน ซึ่งในทางปฏิบัติ ลูกจ้างบางคนทำงานมา 20-30 ปี พอใกล้เกษียณก็ถูกเลิกจ้างแล้วได้เงินเดือนล่วงหน้าแค่ 10 เดือน เป็นต้น

“ผมคิดว่าควรแก้กฎหมายให้จ่ายเงินชดเชยเลิกจ้างในอัตราก้าวหน้า ยิ่งทำงานมานานก็ยิ่งได้เงินชดเชยเยอะ ไม่ใช่ล็อกไว้สูงสุดแค่ 10 เดือนเท่านั้น”บุญยืน กล่าว

บุญยืน ยังขยายความไปถึงประเด็นการเข้าถึงสิทธิทางศาล เพราะเวลาลูกจ้างโดนเลิกจ้าง จะมีปัญหาเริ่มตั้งแต่การหาทนายฟ้องนายจ้าง เพราะลูกจ้างไม่มีเงินไปจ้างทนาย หรือหากฟ้องได้ กว่าศาลแรงงานชั้นต้นจะพิจารณาเสร็จก็ใช้เวลานานมาก

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายประกันสังคมที่จำเป็นต้องปรับแก้ในหลายเรื่อง เพราะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2533 แต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ทุกวันนี้ผู้ประกันตนจำนวนมากยังไม่รู้ไม่ทราบสิทธิประโยชน์ของตัวเองเลย ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิของตัวเอง รวมไปถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทน ซึ่งทุกวันนี้มีอุบัติเหตุจากการทำงานสูงมาก คนตายปีละ 700-800 คน เจ็บป่วยอีกประมาณ 500,000 คน แต่การเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลยากกว่ากองทุนประกันสังคมเสียอีก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ขบวนการแรงงานกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทย เรียกร้องให้มีความเป็นหน่วยงานอิสระ และมีการเลือกตั้งกรรมการฝ่ายลูกจ้างโดยตรง 1 คน 1 เสียง แต่บุญยืนมองว่าโครงสร้างของสปส.จะเป็นอย่างไรก็ได้ ขอเพียงการเมืองไม่แทรกแซงและไม่ทำงานแบบข้าราชการ

“ถ้าจะเป็นหน่วยงานอิสระ ทุกวันนี้องค์กรอิสระก็ยังมีปัญหากันอยู่เลย หรือถ้าเป็นหน่วยงานอิสระแต่ยังทำงานแบบข้าราชการมันก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนจะทำอย่างไรไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงสปส. เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมานั่งคุยกัน เพราะเรายังไม่เคยคุยกันประเด็นนี้จนตกผลึกเลย”

ขณะเดียวกัน หากจะเปลี่ยนมาใช้การเลือกตั้งกรรมการสปส.โดยตรงแบบ 1 คน 1 เสียง ก็เป็นแค่การเปลี่ยนขั้วอำนาจจากขั้วเก่าไปขั้วใหม่เท่านั้น ทุกวันนี้ใช้ระบบ 1 สหภาพแรงงาน 1 เสียง สหภาพเล็กหรือใหญ่ก็ 1 เสียงเท่ากัน แต่หากใช้ระบบ 1 คน 1 เสียง สหภาพที่มีจำนวนสมาชิกเยอะก็ได้เปรียบ การลงคะแนนก็เอนเอียงให้สหภาพของตัวเองอยู่ดี

ในส่วนของปัญหาแรงงานนอกระบบ ต้องมีการแก้กฎหมายประกันสังคมให้รองรับ ครอบคลุมไปถึงกลุ่มแรงงานรับเหมาช่วงและกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านด้วย ทุกวันนี้มีแรงงานในระบบ 10 ล้านคน แต่มีแรงงานนอกระบบสมัครเข้าประกันสังคมแค่ประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เข้ามาตรา 33 เลย แต่สิทธิประโยชน์อาจได้น้อยกว่าบ้างเพราะลูกจ้างกลุ่มนี้ไม่มีนายจ้างร่วมจ่ายสมทบ

ขณะที่ประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาตินั้น จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวให้นานขึ้น เพราะหากแรงงานต่างด้าวมาเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติ จะอยู่ทำงานในไทยได้ไม่กี่ปี แต่หากลักลอบหนีเข้าเมืองก็อยู่ทำงานได้นานกว่านั้น และบุญยืนเชื่อว่าทุกวันนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวลักลอบหนีเข้าเมืองอีกจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ต้องอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแล้ว อยู่ทำงานในเมืองไทยได้นานขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับตัวแรงงานเองด้วยเพราะต้องเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตนและได้สิทธิเช่นเดียวกับแรงงานไทย

ส่วนประเด็นเรื่องแรงงานรับเหมาช่วงนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดให้แรงงานรับเหมาช่วงได้สวัสดิการเช่นเดียวกับแรงงานประจำ แต่ในทางปฏิบัติแรงงานกลุ่มนี้ถูกเอาเปรียบได้แค่ค่าจ้างเท่านั้น ไม่ได้สวัสดิการค่ารถ ค่าอาหารแบบพนักงานประจำ และจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ การบังคับใช้กฎหมายในจุดนี้ถือว่าหย่อนยานมาก

“อย่างตอนนี้การเมืองมีปัญหากระทบมาถึงเศรษฐกิจ แรงงานทางภาคตะวันออกที่ผมทำงานอยู่ก็เริ่มมีการเลิกจ้างแรงงานรับเหมาช่วง หรือประกาศหยุดงานแล้วจ่ายค่าจ้างให้แค่ 75% กันแล้ว”บุญยืน กล่าว

ถามว่าปฏิรูปรอบนี้ ผู้ใช้แรงงานจะได้อานิสงค์มากน้อยแค่ไหน บุญยืนฟันธงทันทีว่า สุดท้ายเมื่อนักการเมืองแบ่งเค้กอำนาจกันเสร็จ ก็จะกลับมาอยู่ในวังวนเดิม คนงานก็ยังเหมือนเดิม ใครจะมาเป็นรัฐบาล คนงานก็ยังต้องมานั่งประท้วงข้างทำเนียบรัฐบาลโดยไม่มีคนเหลียวแลเหมือนเดิม

“เราหวังกับการปฏิรูปมาตั้งแต่สมัยรสช. มาจนถึง คมช.ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น รอบนี้สุดท้ายก็อีหรอบเดิม”บุญยืนสรุป

แม้บุญยืนจะไม่คาดหวังกับกระแสปฏิรูปเท่าใดนัก แต่อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ก็ยังพยายามมองว่าแม้จะหวังได้น้อย แต่ก็ควรเกาะขบวนปฏิรูปคราวนี้ไว้ก่อน

ชาลี ลอยสูง ประธานคสรท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา คสรท.ได้ส่งข้อเสนอการปฏิรูประบบแรงงานผ่านทางสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ กปปส. เพื่อที่ว่าหากมีการจัดตั้งสภาประชาชนตามโมเดลของ กปปส. ขึ้นมาได้จริง ข้อเสนอเกี่ยวกับแรงงานจะได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาประชาชนเลย

“แม้ประเด็นหลักๆที่ กปปส.พูดจะมี 5-6 ประเด็น แต่เมื่อมีโอกาสเราก็เสนอเกี่ยวกับแรงงานเข้าไปด้วย ดีกว่าไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเลย ไม่อย่างนั้นเราจะตกขบวน”ชาลี กล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอด้านการปฏิรูปแรงงานที่ คสรท.ส่งผ่านไปถึงกปปส.นั้น ก็ยังเป็นประเด็นเดิมที่เรียกร้องกันมาตั้งแต่ปี 2554 มีทั้งหมด 9 ข้อ ประกอบด้วย 1. การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

2. แก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้สอดคล้องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 3. การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้

4. ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี 5.พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภค 6. สิทธิเลือกตั้งส.ส.,ส.ว.,องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกระดับในเขตพื้นที่สถานประกอบการของคนงาน เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ 7.จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

8. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน  จากกรณีเจ้าของสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้าง 9. การคุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบ และสิทธิแรงงานขามชาติ

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ชาลียังเสนอให้ปฏิรูปการเลือกตั้งใหม่ โดยให้มี สส.ที่มาจากสัดส่วนตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆด้วยเพราะระบบเดิม ส่วนใหญ่สส.ที่เข้ามาทำงานในสภาจะเป็นนักธุรกิจ เมื่อมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแรงงานก็จะไม่ได้รับความสนใจ แต่หากกำหนดให้มีตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆเข้าไปเป็น สส.ด้วย จะทำให้คนในอาชีพนั้นๆมีปากมีเสียงมากขึ้น