ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพนมฟลูออไรด์ในโครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศไทย” เพื่อเพิ่มพูนความรู้และเทคนิคในการผลิตนมฟลูออไรด์ให้อยู่ในมาตรฐานและมีคุณภาพ พร้อมทั้งขยายพื้นที่การดำเนินงานเพิ่มอีก 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

วันนี้ (26 มีนาคม 2557) ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดการประชุมเรื่อง การพัฒนาคุณภาพนมฟลูออไรด์ในโครงการนมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุในประเทศไทย ณ โรงแรม อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ว่า ตามที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า การใช้ฟลูออไรด์ทุกรูปแบบมีประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุ ภายใต้โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมอนามัยได้ดำเนินงานโครงการนมฟลูออไรด์มาตั้งแต่ปี 2543 โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การสนับสนุนด้านวิชาการจากองค์การอนามัยโลก และการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากมูลนิธิ The Borrow Foundation ประเทศอังกฤษ ด้วยการเสริมฟลูออไรด์ผ่านทางนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเพื่อป้องกันฟันผุ ซึ่งการดำเนินงานในระยะแรกตั้งแต่ปี 2543 – 2548 เริ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้เด็กนักเรียนจำนวน 35,000 คน ได้ดื่มนมฟลูออไรด์พาสเจอร์ไรซ์ที่มีขนาด 200 มิลลิลิตร/ถุง และมีปริมาณฟลูออไรด์ 0.5 มิลลิกรัม/ถุง ซึ่งเป็นขนาดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

ทันตแพทย์สุธา กล่าวต่อไปว่า จากผลการประเมินผลพบว่าเด็กในกรุงเทพมหานครที่ดื่มนมฟลูออไรด์ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี จะช่วยลดโรคฟันผุในฟันแท้ได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนมฟลูออไรด์ถึงร้อยละ 34.4 นอกจากนี้ได้มีการศึกษาปริมาณฟลูออไรด์โดยรวมที่ได้รับในแต่ละวันของเด็กที่ดื่มนมฟลูออไรด์ยังพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ปลอดภัย และไม่พบผลกระทบเรื่องฟันตกกระ ซึ่งเด็กที่ได้ดื่มนมฟลูออไรด์ยังคงต้องแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตามปกติ ปัจจุบันได้ดำเนินงานโครงการดังกล่าวในพื้นที่มีเด็กฟันผุสูงในเด็กกว่า 1 ล้านคน ใน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชุมพร ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี สระแก้ว ชลบุรี กระบี่ และพัทลุง นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดที่อยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการ 4 จังหวัด ได้แก่ ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อขยายพื้นที่ในการให้ความรู้ในป้องกันและดูแลสุขภาพช่องปากในเด็ก รวมทั้งเทคนิคในการผลิตนมฟลูออไรด์ให้มีคุณภาพ ซึ่งจากการติดตามการผลิตนมฟลูออไรด์พบว่า การเพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างโรงนม ในการผลิตและควบคุมมาตรฐานตั้งแต่โรงนมถึงนมโรงเรียน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กได้ดื่มนมฟลูออไรด์ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันฟันผุ

“ทั้งนี้ โรงนมมีส่วนสำคัญในการผลิตนมฟลูออไรด์อย่างมีคุณภาพ โดยบุคลากรจากโรงนมจะเข้ารับการอบรมด้านคุณภาพการผลิตนมฟลูออไรด์จากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ประกอบการขอรับใบอนุญาตผลิตนมฟลูออไรด์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของโรงนมทั้ง 20 แห่ง ซึ่งการประชุมพัฒนาศักยภาพบุคลากรโรงนมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, สำนักอนามัยและสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร, สำนักงานคณะกรรมกาส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด สหกรณ์โคนมหนองโพ ราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) และห้างหุ้นส่วนจำกัด สุราษฎร์เฟรชมิลค์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และเทคนิคในการผลิตนมฟลูออไรด์ให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาการจัดส่งนมฟลูออไรด์จากโรงนมจนถึงนักเรียน ภายใต้การควบคุมกำกับมาตรฐานโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นอกจากนี้ เด็กนักเรียนในจังหวัดที่ร่วมโครงการ จะได้ดื่มนมที่มีประสิทธิผลในการลดฟันผุ ควบคู่ไปกับการได้รับนมอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมของเด็กที่พร้อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพช่องปากที่ดีต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด