ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยรัฐ - น.ส.ธีราพร ไชยมาลา นักศึกษาปริญญาโทจากภาควิชาสังคมและสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลวิจัยความรู้ ความคิดเห็นและการปฏิบัติตัวด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงพิการ ว่า วิจัยโดยสุ่มตัวอย่างผู้หญิงพิการทั้งพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว พิการทางการได้ยินและมองเห็นในเขตกรุงเทพฯ อายุ 15-49 ปี 340 คน โดยร้อยละ 71.5 มีสถานภาพโสด ส่วนมากมีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 50 รู้จักวิธีการคุมกำเนิดและวิธีการวางแผนครอบครัว วิธีการคุมกำเนิดที่รู้จักมากที่สุดคือ ถุงยางอนามัยร้อยละ 39.5 และยาเม็ดคุมกำเนิดร้อยละ 34.5 สำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รู้จักมากที่สุดคือ โรคเอดส์ร้อยละ 74.5 นอกจากนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.7 มีความเข้าใจว่าสังคมไม่คิดว่าผู้หญิงพิการควรตั้งครรภ์ แต่สำหรับผู้หญิงพิการเองกลับมีความคิดเห็นว่าตัวเองสามารถตั้งครรภ์ได้มากถึงร้อยละ 83.3

น.ส.ธีราพรกล่าวด้วยว่า สำหรับการปฏิบัติตัวด้านอนามัยเจริญพันธุ์ พบว่าร้อยละ 32.4 เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน โดยเลือกใช้ครั้งแรกคือการสวมถุงยางอนามัย และวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้ประจำคือ ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์จะมีบุตรเฉลี่ยอย่างน้อย 2 คน ทั้งนี้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าคนพิการส่วนใหญ่ร้อยละ 85.9 ไม่เคยไปรับบริการที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการของรัฐ ทั้งที่ผู้หญิงพิการมากกว่าครึ่งมีบัตรประกันสุขภาพ โดยอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเข้ารับบริการคือสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานบริการรวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และส่วนใหญ่มีความต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์มาก

ที่มา: http://www.thairath.co.th

เรื่องที่เกี่ยวข้อง