ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา นับว่าได้เจริญรุดหน้าไปมาก โดยเฉพาะการขยายระบบบริการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข แม้ว่าจะยังมีปัญหาการเข้าถึงอยู่บ้างในบางพื้นที่ แต่อยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น ปัจจุบันเฉพาะโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวน 827 แห่ง แยกเป็น โรงพยาบาลศูนย์ 25 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลจังหวัด 70 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชนอีก 732 แห่ง ไม่นับรวมสถานีอนามัยที่ได้ยกระดับเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,770 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดหน่วยงานอื่น

ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม

ที่มาที่ไปของการขยายระบบรักษาพยาบาลหรือ ระบบสาธารณสุขชุมชน นั้น  ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ย้อนรอยจุดเริ่มต้นของการดำเนินการที่มีมาร่วมร้อยปี ว่า เค้ารางการขยายระบบสาธารณสุขชุมชนได้เริ่มต้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงปี 2455 หลัง “กรมพลำภัง” (ชื่อกรมการปกครองในอดีต) กระทรวงมหาดไทย ได้รับโอนกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์ผีหนอง กองแพทย์และแพทย์ประจำเมือง จากกระทรวงธรรมาการ และมีแนวคิดในการจัดให้มีแพทย์ประจำหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งสถานที่เพื่อดูแลผู้ป่วย จำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ ที่เรียกในชื่อต่างๆ ว่า “โอสถศาลา” “โอสถสภา” และ “โอสถสถาน” แต่ไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากติดงบประมาณซึ่งต้องใช้จำนวนมาก โดยรัฐขณะนั้นมองว่าเป็นเรื่องที่เกินกำลังงบประมาณ และเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นควรดำเนินการเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นเอง จึงไม่ควรเกี่ยวข้องกับเงินหลวง ด้วยเหตุนี้การขยายระบบรักษาพยาบาลจึงยังเป็นเพียงแค่แนวคิด

แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเข้าสู่การขยายระบบรักษาพยาบาลครั้งใหญ่ ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ด้วยหลักการของระบอบประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลซึ่งมีที่มาจากประชาชน มีหน้าที่ต้องดูแลประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ทำให้ในปี 2477 ซึ่งเป็นปีที่มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติสาธารณสุข” กำหนดให้จัดตั้งเทศบาลขึ้นทั่วประเทศแทนสุขาภิบาล รัฐบาลขณะนั้นได้มีคำสั่งให้กรมสาธารณสุขจัดทำ “โครงการสร้างโรงพยาบาลในทุกจังหวัด” โดยให้ดำเนินการในจังหวัดตามแนวชายแดนก่อน เป็นไปตามนโยบาย “อวดธง” ที่ต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้านเห็นความเจริญของไทย ทำให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดอุบลราชธานี, หนองคาย, นครพนม, และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

“รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่า ควรให้ความสำคัญกับงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และต้องดำเนินการโดยเร็ว  เนื่องจากมองว่าการแพทย์และสาธารณสุขเป็นการเพิ่มคุณภาพให้กับประชากร ให้มีสุขภาพที่ดี ตามแนวคิด “รัฐเวชกรรม” จึงควรจัดให้มีโรงพยาบาล สุขศาลา สถานีบำบัดโรค และรัฐจะเป็นผู้จ้างแพทย์ ผู้ช่วยแพทย์ ตลอดจนบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพรวมถึงการรักษาโรคให้กับประชาชน” ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว และว่า จะเห็นได้ว่างานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเริ่มได้รับความสำคัญในช่วงขณะนั้น ซึ่งต่อมาในปี 2485 ยังได้มีการจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้น

อาจารย์ภาควิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต่อว่า ต่อมาในปี 2489 ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้เดินหน้านโยบาย “สร้างโรงพยาบาลใหม่ในทุกจังหวัด” ต่อเนื่อง โดยมีการเสนอ “โครงการจัดตั้งโรงพยาบาลและสุขศาลา” ที่มุ่งให้มีการขยายโรงพยาบาลตามจังหวัดต่างๆ และสุขศาลาอย่างแพร่หลาย เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการบำบัดรักษาและป้องกันโรคอย่างทั่วถึง ซึ่งขณะนั้นยังมีจังหวัดที่ไม่มีโรงพยาบาลมากถึง 37 จังหวัด 

“ในการจัดตั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดขณะนั้น กระทรวงสาธารณสุขเห็นควรให้มีการจัดสร้างเป็นโรงพยาบาลขนาดกลางเพื่อรองรับผู้ป่วยอย่างน้อย 50 เตียงก่อน ส่วนการจัดสร้างโรงพยาบาลขนาดเล็กนั้น ให้พิจารณาจากขนาดชุมชน ซึ่งหากพื้นที่ใดได้ขยายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ จึงให้ขยายสุขศาลาเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กเพื่อรองรับตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้มีการโอนโรงพยาบาลในส่วนเทศบาลมาเป็นของรัฐทั้งหมด ขณะนั้นมีอยู่ 15 แห่ง เนื่องจากอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่”

สำหรับในส่วนของงบประมาณเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่นั้น กระทรวงสาธารณสุขในตอนนั้นได้เสนอให้แต่ละจังหวัดช่วยกันระดมทุนในการก่อสร้าง ด้วยการจัดตั้งเป็นองค์กรการกุศลสาธารณสุข เพื่อหาเงินสมทบกับงบประมาณภาครัฐในการก่อสร้าง เรียกว่าเป็นการอาศัยความร่วมมือของท้องถิ่นเป็นสำคัญ ไม่ต้องรองบประมาณแผ่นดินเพียงอย่างเดียว และต่อมาในปี 2490 ซึ่งมีการเปลี่ยนรัฐบาล การก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกจังหวัดยังคงเดินหน้า แต่ครั้งนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ช่วยกำชับไปยังข้าราชการประจำท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดที่ยังไม่มีโรงพยาบาล ให้เร่งดำเนินการจัดตั้ง ซึ่งมีการตั้งเป้าก่อสร้างใน 41 จังหวัด ที่ยังไม่มีโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์จัดตั้ง

ทั้งนี้จังหวัดที่ยังไม่มีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์จัดตั้ง ได้แก่ กระบี่, กาญจนบุรี, ขอนแก่น, ชัยนาท, ชัยภูมิ, ชุมพร, ตราด, นครนายก, นครศรีธรรมราช, บุรีรัมย์, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, พังงา, พัทลุง, พิจิตร, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำพูน, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สตูล, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุโขทัย, สุราษฎร์ธานี, สุรินทร์, อ่างทอง, อุดรธานี, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ หนึ่งในโครงการสร้างโรงพยาบาลทุกจังหวัดในระยะเริ่มต้น

ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เล่าต่อว่า นโยบายการระดมทุนภายในท้องถิ่นกันเอง เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดที่ยังไม่มีโรงพยาบาลนั้น ไม่ค่อยได้ผล เพราะจากการประกาศนโยบายในปี 2489 หลังดำเนินการ 3 ปี คือในปี 2491 มีจังหวัดที่สามารถระดมทุนจนจัดตั้งโรงพยาบาลจังหวัดได้เพียง 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลสุโขทัย และโรงพยาบาลชลบุรี ทั้งโรงพยาบาลจังหวัดที่ถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังยังเป็นการยกระดับจากสุขศาลาที่โอนมาจากกรมสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลสมุทรสงคราม โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลสตูล นอกจากนั้นเป็นโรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขใช้งบประมาณก่อสร้างเอง ได้แก่ โรงพยาบาลเพชรบุรี, โรงพยาบาลระยอง, โรงพยาบาลมหาสารคาม, โรงพยาบาลสุรินทร์, โรงพยาบาลขอนแก่น, โรงพยาบาลอุตตรดิตถ์, โรงพยาบาลกระบี่, โรงพยาบาลชัยภูมิ, โรงพยาบาลตราด, และโรงพยาบาลอำเภอโพธาราม ราชบุรี

“จากการเดินหน้าจัดตั้งโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการจัดตั้งโรงพยาบาลครบทุกจังหวัดเกิดขึ้นได้จริงก่อน ปี 2500 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมี 72 จังหวัด แต่มีโรงพยาบาลที่จัดตั้งขึ้น 77 แห่ง ด้วยความช่วยเหลือจาก “USOM : United States Operation Mission) ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกันนี้ยังได้มีการกำหนดเป้าหมายการขยายสาธารณสุขชุมชนต่อไป คือการจัดตั้งโรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลชุมชน ให้ครบทุกอำเภอทั่วประเทศ

ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงเวลานั้น มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ คือ ในปี 2493 ได้มีการนำเสนอโครงการจัดสร้าง “เมืองโรงพยาบาล (The City Hospital)” ใช้พื้นที่บริเวณพญาไท เพื่อให้เป็น “ศูนย์การแพทย์ (Medical Centre) ประจำกรุงเทพฯ” อย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรักษาโรคในสาขาต่างๆ ทั้งด้านศัลยศาสตร์, อายุรศาสตร์, สูติ-นรีเวชชศาสตร์, หูคอจมูกและตา, โรคเด็ก, รังสี, พยาธิ และอื่นๆ โดยรวมอยู่พื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยได้ไม่น้อยกว่า 2,000 เตียง ทำทั้งด้านการรักษาโรคทั่วไปและโรคซับซ้อนที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมีการวิจัยเพื่อสนับสุนนงานทางด้านวิชาการให้กับเมืองโรงพยาบาล โดยโครงการนี้ได้ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติตกลงรับหลักการ แต่ในเวลาต่อมาจนกระทั่ง จอมพล ป.พิบูลสงครามหมดอำนาจลงจากรัฐประหารในปี 2500 ก็ไม่มีการดำเนินการต่อแต่อย่างใด เมืองโรงพยาบาลจึงเหลือเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น 

ขอบคุณภาพประกอบจาก : หนังสือ “รอยเวลา : เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ”, นนทบุรี : สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ, 2556