ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยผลสำรวจจำนวนแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศล่าสุดในปี 2554พบมีทั้งหมด 13,230 คน คิดเป็นร้อยละ 52 ของกรอบอัตรากำลังที่ควรจะเป็นตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ยังขาดอีก 12,290 คน เร่งผลิตเพิ่มในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัยระหว่างปี2556-2560 อีก 5,001 คน ใช้งบ 9,501 ล้านบาทเศษ คาดภายในปี 2565จะมีแพทย์เพิ่มในระบบอีก 13,000 คน

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ 

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบสัมฤทธิบัตรแก่แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบท พ.ศ.2538-2556ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับทบวงมหาวิทยาลัย14 สถาบัน ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กทม. เมื่อเช้าวันนี้(31 มีนาคม 2557) ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ855 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์ 28 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 68 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 759 แห่ง ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ยุทธศาสตร์การบริหารในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ 12 เขต ดูแลเขตละ 4-8 จังหวัด ประชากรประมาณ 5 ล้านคน เป็นการจัดบริการรักษาพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพของสถานพยาบาลทุกระดับ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ สถานที่เช่นห้องผ่าตัด เตียงนอน และงบประมาณ เสมือนเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อประชาชนสูงสุด บรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากร ผลสำรวจล่าสุดพบว่าทั้ง 12เขต มีแพทย์ปฏิบัติงานทั้งหมด 13,230 คน ขณะที่กรอบอัตรากำลังที่ควรจะมีตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก สัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,250 คน คือ 25,520 คน กล่าวได้ว่ามีแพทย์ปฏิบัติงานเพียงร้อยละ52 ยังขาดอีก 12,290 คน คาดภายในปี 2565 จะมีแพทย์เพิ่ม 13,000 กว่าคน

ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย 14 แห่ง ผลิตเพิ่มเติมจากระบบปกติหรือระบบเอนทรานซ์ เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. 2556 รวม 19 ปี ทั้งหมด 13,186 คน ขณะนี้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 13 รุ่น รวม4,160 คน รุ่นที่สำเร็จการศึกษาและรับสัมฤทธิบัตรครั้งนี้เป็นรุ่นที่14 ทั้งหมด 878 คน โดยจะกลับไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ4 ภาค ได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 295คน ภาคใต้ 203 คน ภาคกลาง 199 คน และภาคเหนือ 181 คน ในวันที่ 1 เมษายน 2557 นี้

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ล่าสุดนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ.2556 -2560 มีเป้าหมายผลิตแพทย์จำนวน 9,039 คน เพิ่มจากการผลิตแพทย์ตามแผนปกติที่มีอยู่เดิม4,780 คน ประกอบด้วยโครงการผลิตแพทย์เพิ่มโดยกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 4,038 คน และโครงการผลิตแพทย์ชนบทเพิ่ม ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 5,001 คน รวมทั้งสิ้น 13,819 คนซึ่งจะทำให้มีแพทย์ให้บริการประชาชนเพิ่มมากขึ้นเฉพาะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ใช้งบผลิตแพทย์ในโครงการนี้ จำนวน 9,501 ล้านบาทในการรับนักเรียนเข้ารับทุนเรียนแพทย์ในโครงการนี้ จะคัดเลือกจากเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่อยู่ในต่างจังหวัด

ทั้งนี้ การผลิตแพทย์ 1 คนใช้งบคนละ 3 แสนบาทต่อปีเรียน 6 ปี โดย ชั้นปี 1-3 เรียนภาคทฤษฎีที่มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือจำนวน14 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น จุฬาลงกรณ์ เชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ นเรศวร มหิดล สงขลานครินทร์ เทคโนโลยีสุรนารี มหาสารคาม วลัยลักษณ์ บูรพา อุบลราชธานี นราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำหลักสูตรและประสาทปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ส่วนชั้นปีที่ 4-6ซึ่งเป็นการเรียนภาคคลินิก เรียนที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นสถาบันสมทบ 37แห่ง ภายหลังจบการศึกษาแล้วมีสัญญาผูกพันให้กลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ที่รับทุน ผลการปฏิบัติงานพบว่าแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบตามเวลากำหนด คืออย่างน้อย 3ปีมากกว่าแพทย์ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกในระบบปกติ

อนึ่งในวันนี้ นายแพทย์ณรงค์ได้ให้โอวาทแก่นิสิตแพทย์ก่อนไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนว่า ขอให้ยึดมั่นในจริยธรรมวิชาชีพ ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ เนื่องจากปัจจุบันมีแนวโน้มการฟ้องร้องแพทย์มีมากขึ้นเรื่อยๆ และการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากจะมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพแล้ว ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทั้งต่อผู้ร่วมงาน ต่อผู้ป่วย ญาติ และประชาชนทั่วไป มีความเห็นอกเห็นใจ มีคุณธรรม รวมทั้งมีความอ่อนน้อมถ่อมตน คิดดี ทำดี ก็จะได้รับความรักความไว้วางใจจากคนรอบข้าง