ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่คนไทยเกือบทั้งประเทศเฝ้ารอคอยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพให้มากขึ้น ดังนั้น “ฝ่ายซื้อบริการสุขภาพ” และ “ให้ฝ่ายบริการสุขภาพ” ควรจับมือกันเพื่อพัฒนางานบริการสุขภาพด้านพื้นฐานให้มีคุณภาพและครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่อย่างเร่งด่วน”

ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล

ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สะท้อนมุมมอง พร้อมฉายความคาดหวังที่เป็นปลายทางของระบบสุขภาพในอนาคตว่า

“โดยส่วนตัวมีความฝันอยากเห็นการดูแลสุขภาพด้วยตนเองในระดับครอบครัวหรือชุมชน (Self Care) โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาหมอและยาจากต่างประเทศ เพราะถ้าหากชาวบ้านสามารถดูแลตัวเองในยามเจ็บป่วยได้ หรือมีการดูแลสุขภาพโดยการดื่มน้ำอย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ อยู่ในวิถีชีวิตที่มีความสุข จะช่วยลดการเจ็บป่วยให้ลดน้อยลง สามารถใช้ชีวิตอยู่ดี กินดี มีความสุขได้ตามอัตภาพ”

ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า แต่ถ้าหากมีการเจ็บป่วยที่มากเกินกว่าจะเยียวยาด้วยตนเองการบริการสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยประชาชนด้วยกันเองและสามารถจะทำได้ในระดับชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นการบริการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health of Care) ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้นำพาชาวบ้านที่เจ็บป่วยเข้ามารับการรักษา หรือพามาเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพได้อย่างปลอดภัย โดยการส่งต่อด้วยระบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ได้รับการบริการในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ หรือตติยภูมิ ได้อย่างทันท่วงที มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ” ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ทุกฝ่ายต้องพัฒนางานบริการสุขภาพด้านพื้นฐานให้มีคุณภาพ

ฉะนั้น ถ้าหากพูดถึงความหมายของคำว่า “สุขภาพ” คำๆนี้ สามารถครอบคลุมไปทั้งชีวิต ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ชุมชน สังคมที่ทำงาน โรงงาน หรือที่ต่างๆ ก็จะมีคำนี้ตามติดไปด้วยทุกที่ เพราะคำว่า “สุขภาพ” อยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง ชาวบ้านสมัยก่อนจึงรู้จักวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้ด้วยยาสมุนไพร เราควรนำภูมิปัญญาเหล่านี้กลับมาใช้เหมือนเก่า ในการดูแลและเยียวยาสุขภาพของตนเองให้เข้มแข็งได้ โดยลดการพึ่งพายาแผนปัจจุบันและใช้ยาเท่าที่จำเป็น

ดังนั้น หัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบบสุขภาพเข้มแข็งและยั่งยืนได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ หรือเริ่มต้นจากระบบสุขภาพหน่วยที่เล็กที่สุด ก็คือ การที่ประชาชนรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเอง (Self care) ก่อนที่จะดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวและคนในชุมชน ซึ่งเรื่องสุขภาพควรเป็นเรื่องที่ไม่แยกออกจากชีวิต สังคม และการทำมาหากินของชาวบ้าน เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

“การที่ชาวบ้านสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองให้เจ็บป่วยน้อยลงได้ ถือว่าชาวบ้านมีส่วนช่วยให้ภาพใหญ่ของระบบสุขภาพก็จะมีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญก็คือจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประเทศลดลงตามไปด้วย นี่คือเป้าหมายที่ผมคิดว่าเราควรจะเดินไปให้ถึงตรงนั้น”

สำหรับวันนี้ถามว่า ระบบสุขภาพบ้านเราเดินหน้ามาถึงตรงไหนไม่มีใครบอกได้ แต่เราต้องสร้างความท้าทาย ต้องคอยเติมเต็มช่องว่าง และทำให้ชาวบ้านสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ เพื่อไม่ให้เจ็บป่วยหรือดูแลสุขภาพของตนเองในยามเจ็บป่วยในเบื้องต้นได้ อันนี้ก็คือ “ระบบสุขภาพ” ที่ผมอยากจะเห็นในอนาคต

ส่วนการสร้างต้นทุนความรู้เพื่อให้ชาวบ้านสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้นั้น ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ก็ได้สร้างต้นทุนเหล่านี้เอาไว้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ลงพื้นที่ไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และหนุนเสริมความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพให้กับชาวบ้าน

ในขณะที่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เอง ก็มีบทบาทหน้าที่ในการศึกษาวิจัยในประเด็นที่ยังเป็นช่องโหว่ของระบบสุขภาพ เช่น การเดินหน้าโครงการวิจัยมุ่งเป้าเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) หนึ่งในโจทย์งานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่เล็งเห็นถึงสถานการณ์สุขภาพของคนไทยที่กำลังเผชิญภาวะเสี่ยงจากโรคเรื้อรัง ที่มีปัจจัยมาจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่ทำลายสุขภาพ ฯลฯ การจัดแคมเปญสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ HEALTH@I สุขภาพคนไทยเริ่มต้นที่ “ฉัน” เพื่อรณรงค์การลดภาระโรคของคนไทยด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การมีสุขภาพดี รวมถึงการพัฒนานักวิจัยในเขตสุขภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ได้มีความรู้ด้านการวิจัยเชิงระบบและนโยบาย ตลอดจนการพัฒนาระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ เป็นต้น

เหล่านี้จะเข้าไปเติมเต็มระบบสุขภาพ ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดไปจนถึงระบบสุขภาพที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ระบบสุขภาพของไทยมีความสมดุลและยั่งยืน และเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดี และมีอายุที่ยืนยาว นี่คือเป้าประสงค์สูงสุดของเรา