ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "การทุจริต การเมือง ความอยู่รอดของประเทศ" เนื่องในโอกาสที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานวัน "สัญญา ธรรมศักดิ์" ประจำปี 2557 ว่า ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาระดับโลก มีสายใยโยงไปนอกประเทศ และมีแนวโน้มการโยกย้ายทรัพย์สินออกไป รวมถึงมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมนอกประเทศ จึงถือว่ามีความรุนแรงที่สุด แต่กฎหมายที่เรามีอยู่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ จึงต้องมีการรื้อกฎหมาย ทั้งนี้หลายประเทศระบุว่าประเทศไทยตกต่ำกว่าฟิลิปปินส์ เพราะประเทศไทยอยู่ในวังวนระบบอุปถัมภ์ แม้แต่การแต่งตั้งอธิบดีหลายกรมก็ถูกวางไว้มากตามระบบอุปถัมภ์ ดังนั้นประเทศไทยต้องแก้ไขในทางที่ขจัดคนชั่วออกไปจากระบบให้ได้

นายวิชา กล่าวอีกว่าอย่าบอกว่าให้คนทุจริตเข้าไปบริหารประเทศก็ได้เพราะแค่เวลาเพียง 4 ปี แต่ที่จริงแล้วคนพวกนั้นไม่ออกไปง่าย ๆ และซื้อคนเอาไว้หมดแล้ว อีกทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของ อบจ. อบต. และเทศบาล เป็น แหล่งหาเงินแหล่งใหญ่ เนื่องจากตอนนี้งบประมาณแผ่นดินลงไปสู่ท้องถิ่นจำนวนมากที่สุด ถ้าใครจะพยายามเข้าไปแข่งขันโดยที่ไม่ใช่พวกเขา ความตายจะเข้ามาถึงคนคนนั้น เนื่องจากคนในระดับท้องถิ่นถูกวางตัวไว้โดยคนระดับชาติเพื่อให้หาเงินขึ้นมา นอกจากนี้ผลกระทบจากคดีทุจริตมีผลมากที่สุดต่อการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ถ้าใครจะมาลงทุนในไทย จะต้องจัดเตรียมกระเป๋ามาจ่ายใต้โต๊ะ ประเทศไทยต้องสร้างระบบคุ้มครองคนที่เข้ามาลงทุน

นายวิชา กล่าวอีกว่า กระบวนการทุจริตที่ร้ายแรงที่สุด คือแผนงานหรือโครงงานเกี่ยวกับสาธารณสุข แม้เคยมีการจับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผลิตยา แต่ตอนนี้ยังมีปัญหาเหมือนเดิม โดยแพทย์ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของบริษัทยา เพราะบริษัทยายังเป็นผู้สนับสนุนการจัดงานต่าง ๆ ของโรงพยาบาล จึงหลีกหนีไม่พ้นเลย แม้แต่คนในวงการสาธารณสุขยอมรับว่าแต่ละบริษัทมีคนของตัวเองฝังอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้การกระทำทุจริตขณะนี้มีการตั้งทีมงานซึ่งไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาทำแทน ซึ่ง ป.ป.ช. สามารถตรวจสอบได้เพียงผู้ที่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐเท่า นั้น ซึ่งประเด็นนี้ในหลายประเทศมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อมาแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ถ้าเราปล่อยให้การทุจริตถูกฝังลึกอยู่ในความเชื่อที่ว่า "โกงได้ ไม่เป็นอะไร" สังคมจะถูกทำลาย และประชาชนอยู่ร่วมกันไม่ได้อีก เกิดความขัดแย้งอย่างหนัก จึงต้องมีการกลั่นกรองคน และมีการตรวจสอบจริงจัง และที่สำคัญคือต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)—