ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คาดข้อตกลงซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์ปลายเดือนธันวาคมนี้   นิว เดลี-ซัน ฟาร์มาซูติคัล เตรียมซื้อกิจการบริษัทคู่แข่ง แรนแบ็กซี่  ผ่านการซื้อหุ้นข้างมากที่ไดอิชิ ซังเคียวถืออยู่ โดยยังไม่มีการเปิดเผยมูลค่าการซื้อกิจการครั้งนี้ แต่คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ซัน ฟาร์มาซูติคัล อินดัสตรีส์ จำกัด บริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติอินเดีย เตรียมซื้อกิจการบริษัทคู่แข่งสัญชาติเดียวกัน แรนแบ็กซี่ แลบอราทอรีส์ จำกัด ซึ่งประสบความล้มเหลวมาตลอด  ช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการทำกำไรให้ถึงจุดคุ้มทุน

ที่ผ่านมา แรนแบ็กซี่  ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตยาสามัญประจำบ้านรายใหญ่สุดของโลก ต่อสู้เพื่อเอาชนะกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) ที่ประกาศห้ามนำเข้ายาจากโรงงานผลิต 4 แห่ง จากทั้งหมด 5 แห่ง ของแรนแบ็กซี่ในอินเดีย เพราะปัญหาด้านความปลอดภัย ซึ่งก่อนที่จะถูกห้ามนำเข้า แรนแบ็กซี่มีรายได้จากตลาดยาสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของรายได้โดยรวม และรายได้ของไดอิชิ ซังเคียว มาจากแรนแบ็กซี่ ในสัดส่วนประมาณ 20%  การเตรียมซื้อกิจการแรนแบ็กซี่ของซัน ฟาร์มาซูติคัล เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าไดอิชิ ซังเคียว ผู้ผลิตยารายใหญ่สุดอันดับ 2 สัญชาติญี่ปุ่น ไม่ต้องเสียเงินปีละหลายสิบล้านดอลลาร์ไปกับความพยายามปรับปรุงกระบวนการผลิตยาของแรนแบ็กซี่อีกต่อไป หลังจากที่ไดอิชิ ซังเคียวซื้อหุ้นข้างมากในแรนแบ็กซี่ เมื่อปี 2551 ด้วยมูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์

ซัน ฟาร์มาฯ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มุมไบ  เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตยาสามัญประจำบ้านรายใหญ่สุดของอินเดีย จะจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นแรนแบ็กซี่ในสัดส่วน 0.8 หุ้นต่อ 1 หุ้นของแรนแบ็กซี่ และหลังจากลงนามข้อตกลงร่วมกันแล้ว ไดอิชิ ซังเคียวจะถือหุ้นในซัน ฟาร์มา 9% และมีสิทธิที่จะแต่งตั้งผู้อำนวยการหนึ่งคนเข้าไปนั่งในบอร์ดบริหารของบริษัทควบรวมกิจการใหม่

บริษัทยาญี่ปุ่น กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะเสร็จสมบูรณ์ ภายในปลายเดือนธันวาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากซัน ฟาร์มาฯ แรนแบ็กซี่ และเจ้าหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไดอิชิ ซังเคียวจะเปิดเผยรายละเอียดผลกระทบต่อผลกำไร ทันทีที่มีการประกาศรายละเอียดของการบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายระหว่างกัน

ทั้งนี้ ซันฟาร์มาฯพยายามกว้านซื้อสินทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังหารือกับธนาคารหลายแห่งเพื่อให้แผนกว้านซื้อกิจการประสบความสำเร็จตามเป้า  ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทก็บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการทั้งในอินเดียและต่างประเทศกว่า 10 แห่งแม้จะไม่สามารถซื้อกิจการบอช แอนด์ ลอมบ์บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์ด้านการรักษาดวงตา ที่ถูกบริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติแคนาดาซื้อกิจการตัดหน้าโดยให้ราคาสูงกว่าไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 เมษายน 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง