ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - นับถอยหลัง "วันปีใหม่ไทย" ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และในวันที่ 13 เมษายนนี้ นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็น "วันผู้สูงอายุ" อีกด้วยตามประเพณีไทยแท้แต่โบราณ เมื่อถึงวันสงกรานต์เหล่าลูกๆ หลานๆ

ก็จะพากันถือขันน้ำลอยดอกมะลิไปรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุอวยพรให้ท่านอายุยืนแข็งแรงอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลานไปอีกนาน

ทว่า...ปัจจุบัน คำว่า "ร่มโพธิ์ร่มไทร" ดูเหมือนจะเลือนรางไปจากความรับรู้ของใครหลายคน และบางคนยังมีทัศนคติต่อผู้สูงอายุไปในเชิงว่าเป็นบุคคลที่เป็น "ภาระ" ไม่มีคุณค่า!

"นับเป็นอุบัติการณ์ที่น่ากังวลมาก"รศ.สุชีลา ตันชัยนันท์ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งติดตามและประเมินผลนโยบายด้านสังคมของประเทศไทยมาหลายรัฐบาลให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ด้วยความเป็นห่วง

"สังคมไทยเปลี่ยนจากที่เคยให้เกียรติยกย่องเคารพผู้สูงอายุเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของบ้านเป็นผู้มีประสบการณ์ชีวิตเป็นที่พึ่งพิงของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน มาเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มองผู้สูงอายุเป็นภาระและเป็นปัญหาที่ต้องจัดการทางการแพทย์ นั่นคือ มองความชราเป็นโรคที่ต้องดูแลรักษา อันเป็นกระแสการจัดการผู้สูงอายุที่พัฒนาขึ้นในตะวันตกตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 16 ที่ไม่ได้มองผู้สูงอายุมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพที่จะทำอะไรเพื่อครอบครัว ชุมชน และสังคมได้"

จากผลการวิจัยเรื่องการทบทวนและ สังเคราะห์องค์ความรู้ผู้สูงอายุไทย สถาบัน วิจัยการสาธารณสุข และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบว่า ผู้สูงอายุถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุ 60-69 ปี ไม่ว่าจะเป็นการทอดทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง ไม่ดูแลปล่อยปละละเลย หรือถูกไล่ออกจากบ้านเพราะไม่มีประโยชน์แล้ว รวมทั้งถูกทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ

ถูกกระทำความรุนแรงทางอารมณ์ เช่น ข่มขู่ ตะคอก

"ปรากฎการณ์ดังกล่าว นอกจากทำให้ผู้สูงอายุถูกลดคุณค่าแล้ว ยังทำให้เกิดความเจ็บป่วยเรื้อรัง และมีภาวะเครียด"

แม้ที่ผ่านมาภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนบางกลุ่มได้ดำเนินการด้านผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ไว้ระดับหนึ่ง เช่น การจัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชรา มีการประกาศให้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ 2546 โครงการภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 1 และ 2 รวมถึงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

"แต่การดำเนินการเหล่านั้นยังไม่สามารถตอบปัญหาของผู้สูงอายุได้ทั้งหมด และเป็นในลักษณะสังคมสงเคราะห์ เชิงรับมากกว่าเชิงรุก ไม่ได้ช่วยให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน และสิ่งที่ยังเป็นปัญหาสำคัญคือ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงด้านจิตใจ หรือพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นรากฐานภูมิปัญญาไทย ซึ่งภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญเลย"

รศ.สุชีลาบอกต่อว่า อีกปัญหาหนึ่งที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ให้ความสำคัญ คือ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานของสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ

"ถนนหนทางการคมนาคมของเราแย่มาก แม้แต่คนปกติยังประสบปัญหาความยากลำบากในการใช้ชีวิต แล้วนับประสาอะไรกับผู้สูงอายุ หรือตัวอาคารสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ค่อยมีดีไซน์ไว้สำหรับผู้สูงอายุเลย ยังไม่มีใครให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ที่วันนี้กลายเป็นคนไร้ตัวตน โนบอดี้ (Nobody) ในสังคม สถานการณ์ตกต่ำ สุดขีด"

รศ.สุชีลายกตัวอย่างประเทศที่เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุอย่างญี่ปุ่น ที่ภาคเอกชนลงทุนแม้แต่ร้านกาแฟที่จัดทำโต๊ะเก้าอี้สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ หรืออีกหลายประเทศแถบยุโรป มีร้านขายอาหารสำหรับผู้สูงอายุ แม้แต่รถยนต์ก็ให้วิศวกรออกแบบรถสำหรับผู้สูงอายุที่จะใช้ขับขี่อย่างปลอดภัยไม่อึดอัด

"แต่รัฐบาล หรือนักการเมืองของเราไม่เคยเห็นปัญหาพวกนี้ ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้าผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 4 ของประเทศ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิรูปเรื่องผู้สูงอายุทั้งหมด"

ทั้งนี้ รศ.สุชีลาแบ่งผู้สูงอายุเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่มที่อยู่ในภาวะเสี่ยง คือผู้สูงอายุที่ได้รับความรุนแรง 2.กลุ่มยากจน 3.กลุ่มพึ่งพิง คือคนพิการ ผู้ป่วยหนัก รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง 4.กลุ่มที่พึ่งตนเองได้และมีศักยภาพ เช่น ข้าราชการบำนาญ นักธุรกิจ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน

"ถ้ารัฐ เอกชน ภาคประชาชนมีนโยบายดีๆ หรือแผนงานดีๆ สามารถทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มที่ 1-3 กลายมาเป็นกลุ่มที่ 4 ได้ รัฐจะลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล ภาระงบประมาณจะน้อยลง"

การพัฒนาอาจไม่จำเป็นต้องใช้อาคารสถานที่ใหญ่โต หรือเป็นโปรเจ็กต์ร้อยล้าน เพียงแค่ทำให้ "วัด" เป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนา ให้ชุมชนได้มารวมกลุ่มดูแลช่วยเหลือกัน แล้วสร้างโครงการที่จะทำให้ผู้สูงอายุพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ที่มีรูปแบบและเนื้อหาสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมที่ทำให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพ แต่เป็นกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี เขียนหนังสือ ซึ่งตอนสมัยหนุ่มสาวทำงานหนัก อาจไม่มีโอกาสได้ทำก็อาจจะใช้วัยนี้ชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป หรือโครงการอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุโดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุระดมความเห็นออกแบบโครงการต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อที่จะตรงความต้องการที่สุด"วัด ยังเป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้ ยังมีบทบาทสูง ยังมีความสำคัญในสังคมไทย"

สำคัญที่สุด สังคมและผู้กำหนดนโยบายต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้สูงอายุใหม่ จากที่มองความสูงวัยเป็นโรค ให้มองว่าผู้สูงอายุมีศักยภาพที่จะดูแลตัวเองได้ พัฒนาตัวเองได้ และช่วยเหลือผู้อื่นได้

"ภาครัฐควรส่งเสริมและสร้างกระแสให้สังคมเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวิธีคิดที่ต้องมองอย่างเข้าใจและให้คุณค่า ไม่มองว่าเป็นภาระ หรือเป็นคนไม่มีตัวตน นอกจากนี้ ให้กำหนดประเด็นผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติในทุกรัฐบาล และจัดสร้างสิ่งประดิษฐ์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในระดับชุมชน จังหวัด ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางเดิน ห้องน้ำ โรงแรม ร้านอาหาร ต้องเตรียม ทั้งหมดเพื่อตอบสนองความต้องการของ ผู้สูงอายุ"

แต่ถ้าสังคมยังนิ่งเฉย? จะมีผลเสียตามมามากมาย!!

"ผู้สูงอายุจะมีชีวิตอยู่อย่างย่ำแย่ และ 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศจะกลายเป็นกลุ่มพึ่งพิง กลุ่มผู้ป่วยทั้งหมด ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ กลายเป็นภาระของสังคมจริงๆ เมื่อตอนนี้ยังไม่เป็นภาระ ก็ต้องส่งเสริมให้เขาอยู่อย่างพึ่งพาตนเองได้"

รศ.สุชีลาทิ้งท้ายว่า "ในฐานะที่กำลังย่างเข้าสู่วัยผู้สูงอายุตอนต้น มีอายุ 60 ปี อยากจะตั้งความหวังว่า ผู้สูงอายุในรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นอื่นๆ จะได้รับการส่งเสริมให้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและชุมชนอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับการได้รับสวัสดิการและบริการต่างๆ อย่างเหมาะสม และใช้ศักยภาพที่มีอยู่ช่วยเหลือสังคมได้ยาวนานที่สุด"

อย่าปล่อยให้ร่มโพธิ์ร่มไทรกลายเป็นคนไร้ตัวตน และอย่าเห็นความสำคัญของพวกท่านเฉพาะวันผู้สูงอายุ

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 10 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--