ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขส่ง'ผู้ตรวจราชการ-นิติกร' ร่วมสอบข้อเท็จจริง สสจ. 8 จังหวัดใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้าน สปสช.เผย สตง.ข้องใจเม็ดเงิน 572 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่งหนังสือถึงสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอให้ร่วมแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ใช้งบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผิดประเภทว่า ล่าสุด สธ.ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จริง 2 คน คือ ผู้ตรวจราชการ สธ. และนิติกร โดยคณะกรรมการชุดนี้มีทั้งหมด 5 คน มีผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน

"ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็นกรณี สตง.ท้วงติง เบื้องต้นได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว แต่จะยังไม่มีการเรียกสอบวินัยข้าราชการ เพราะจะต้องรอให้ได้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ส่วนประเด็นที่ สธ.เห็นว่าการที่ สปสช.แต่งตั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ สปสช.สาขาจังหวัด เข้าข่ายการใช้อำนาจซ้ำซ้อน จึงขอให้ สปสช.ทบทวนเรื่องนี้นั้น จะให้เวลา สปสช.ดำเนินการภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้แจ้งไปยัง สปสช.คือวันที่ 3 เมษายน 2557 หากไม่ดำเนินการใดๆ คงต้องมีมาตรการอื่น ต่อไป" นพ.วชิระกล่าว

ทางด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สตง.ได้ตรวจสอบรายงานการเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2555 และปี 2554 มีข้อสังเกตจากการตรวจสอบ สสจ.จำนวน 8 จังหวัด พบการใช้เงินที่มีการตั้งข้อสังเกตจำนวน 572 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.การบริหารงบประมาณที่มีการตกค้าง หรือเงินค้างท่อจำนวน 396 ล้านบาท ซึ่ง สตง.ระบุว่าการพบเงินค้างท่อ หมายความว่าโรงพยาบาลไม่ได้เงิน เท่ากับเป็นการเสียประโยชน์ จึงขอให้บอร์ด สปสช.ออกระเบียบการบริหารเงินให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาดังกล่าว 2.ส่วนงบที่เหลืออีก 176 ล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ อาทิ งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พบว่าบางจังหวัดมีการใช้งบ ดังกล่าวไปกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดต้องรอให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 10 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--