ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ชนบท จี้ สปสช. โอนงบลงหน่วยบริการตรง 100% ยึดตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมแยกสสจ. ออกจาก สปสช.สาขา ระบุ สธ. ฉวยโอกาส สตง.ตรวจสอบ ดึงอำนาจจัดสรรงบกลับคืน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชี้ “เกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนตรงรายบุคคล สปสช.” ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ลดรอคิวนาน หวั่นหากยกเลิกตาม สธ.เสนอกระทบผู้ป่วยแน่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไต พร้อมเผยหลัง สธ.กร้าวขู่ยกเลิก สสจ.เป็น สปสช.สาขา ส่งผล สสจ.ลำพูน ลำปาง ยกเลิกประชาพิจารณ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 57 แล้ว

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงกรณีที่ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ยกเลิกระเบียบจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6 ของสำนักงานสาขา สปสช.ว่า ในการจัดสรรงบประมาณ หลักการวิธีปฏิบัติตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่สามารถนำเงินไปไว้ยังหน่วยงานบริหารได้ ต้องจ่ายตรงไปยังหน่วยบริการเท่านั้น แต่ที่ผ่านมามีข้อท้วงติงว่า หากไม่มีงบประมาณไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อติดตามกำกับหน่วยบริการเลย จะทำให้ไม่ได้ผล จึงมีการจัดสรรงบบางส่วนไว้ที่ สสจ. เป็นบัญชี 6 ทั้งงบส่งเสริมและป้องกันโรค งบค่าเสื่อม ร้อยละ 20 และเรื่องนี้ได้เกิดการท้วงติงจากสำนักงานตรวงเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะมีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า หลังเกิดปัญหา สธ.เองควรที่จะกำชับ สสจ.เพื่อให้ใช้งบประมาณตามวัตถุประสงค์ และเห็นควรให้ สปสช.ส่งงบดังกล่าวตรงไปยังหน่วยบริการเลย แต่กลับออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปการจัดสรรงบและให้จัดสรรงบไปไว้ที่เขตแทน สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า การเดินหน้าปฏิรูปเขตสุขภาพของ สธ.ที่ผ่านมาก็เพื่อมุ่งดึงงบประมาณไปจัดการที่ส่วนกลางเองเหมือนก่อนมีการจัดตั้ง สปสช. ซึ่งส่วนตัวเกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะจะเป็นช่องว่างให้เกิดการคอรัปชั่นได้เหมือนในอดีต ดังนั้น สปสช.ควรที่จะทำการโอนงบประมาณตรวจไปยังหน่วยบริการทั้งหมดแทน

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ส่วนกรณี สธ.เสนอให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไต หรือค่าตอบแทนที่มีสักษณะเดียวกัน ที่ให้ สปสช.สาขาจังหวัดโอนตรงรายบุคคลนั้น เรื่องนี้ในด้านบริการรักษาพยาบาล สปสช.มองว่า การแก้ปัญหาให้กับประชาชน หากควรมีการสร้างแรงจูงใจในการบริการให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ โดยเฉพาะในช่วงนอกเวลาราชการ ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงได้ออกระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนนี้ออกมา ซึ่งที่ผ่านมาทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้ชัดจากโครงการผ่าต้อกระจก จากเดิมการผ่าต้อกระทบทำได้เพียงปีละ 30,000 รายเท่านั้น แต่หลังจากดำเนินนโยบายนี้ทำให้แต่ละปีสามารถผ่าตัดช่วยผู้ป่วยได้นับแสนราย ช่วยลดภาวะตาบอดของประชาชนลงได้  ซึ่งหากยังคงบริหารแบบเดิมคงไม่สามารถช่วยผู้ป่วยได้เร็วขนาดนี้

ส่วนการคีย์ข้อมูลผู้รับบริการ ซึ่งทาง สธ.ขอให้ สปสช.ลดภาระการคีย์ข้อมูลนี้ ต้องตั้งคำถามว่า ในการของบประมาณเหมาจ่ายรายหัว หาก สปสช.ไม่นำข้อมูลเหล่านี้ไปเสนองบขาขึ้นกับทางสำนักงบประมาณ แต่ขอแบบลอยๆ ไม่มีข้อมูลเลย จะเสนอของบประมาณได้หรือไม่ และสำนักงบประมาณจะพิจารณาอย่างไร เพราะในการพิจารณาต้องดูข้อมูลทั้งจำนวนประชากรและภาวะโรคเป็นตัวตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก่อนมี สปสช. ทาง สธ.เองก็ต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการนำเสนอของบประมาณเช่นกัน

ต่อข้อซักถามว่า กรณีที่ สธ. เตรียมยกเลิกให้ สสจ.เป็น ผอ.สปสช.สาขาให้กับ สปสช. จะส่งผลอย่างไรหรือไม่ นพ.อารักษ์ กล่าวว่า จริงๆ เป็นคนละคนกันก็ได้ หากทาง สธ.ไม่อยากให้ สสจ.เป็น ทาง สปสช.ควรจัดหาคนเพื่อทำหน้าที่ไปเลย และโอนงบไปยังหน่วยบริการโดยตรง และการออกมาเคลื่อนไหวของ สธ.ครั้งนี้ มองว่าทาง สธ.อยากได้อำนาจเป็นผู้จัดสรรงบประมาณกลับคืนเท่านั้น

“การเคลื่อนไหวของ สธ.ครั้งนั้ ทางแพทย์ชนบทได้มีการพูดคุยและเห็นว่าไม่อยากให้ความสำคัญ และมองว่าสิ่งที่ สธ.พยายามทำอยู่นี้ ไม่ใช่ปฏิรูประบบสุขภาพ แต่เป็นปฏิรวบ ซึ่งการปฏิรูประบบสุขภาพจะต้องกระจายหน่วยบริการไปให้ท้องถิ่น หรือออกนอกระบบ ยุบกรมให้เหลือแต่งานด้านวิชาการ ซึ่งจะช่วยลดการแทรกแซง เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดบริการเต็มที่ ไม่ใช่พยายามดึงอำนาจไว้ที่ส่วนกลางเพื่อให้ สธ.เป็นใหญ่เหมือนเดิม” ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

ด้านนางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นธรรมาภิบาลของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งการให้ สสจ.เป็น ผอ.สำนักสาขาจังหวัด สปสช.เป็นการตั้ง ตั้งแต่ปีแรกที่มีการประกาศใช้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการบริหารงบประมาณ เพื่อไม่ให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดตั้งสำนักงานใหม่ ซึ่งได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อทาง สตง.ได้ทำการตรวจพบการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้องในบางจังหวัด และมีข้อท้วงติง ทางหน่วยงานกลาง ทั้ง สธ. และ สปสช. รวมถึงสำนักงานสาขาควรที่จะมีการแก้ไข ไม่ใช่การออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจและออกมาให้ข่าว และประกาศไม่ให้ สสจ. เป็นสำนักสาขาจังหวัดของ สปสช. พร้อมยุติกิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการร่วมกัน ถือว่าเป็นการทำที่ไม่เหมาะสม และเป็นการนำผู้ป่วยเป็นตัวประกัน

นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวว่า จากการแสดงท่าทีดังกล่าวของทางกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ได้ส่งผลต่อการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนและผู้ให้บริการต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2557 แล้ว โดยในบางจังหวัดต้องหยุดชะงักลง เท่าที่ทราบมี จ.ลำพูน และลำปาง ที่ทาง สสจ.ได้ยกเลิกความร่วมมือในการจัดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวแล้ว ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ในฐานะภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับทางทีดังกล่าว ดังนั้นทางภาคประชาชนจะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตเดินหน้าจัดรับฟังความเห็นต่อ

  ส่วนกรณีที่ สธ.เสนอให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไตและค่าตอบแทนอื่นที่มีลักษณะจ่ายตรงยังบุคลากรนั้น นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้คนเสียประโยชน์คือผู้ป่วยโรคไต ซึ่งที่ผ่านมามีน้องที่อยู่ในเครือข่ายชมรมเพื่อโรคไตได้โทรมาพูดคุย เชื่อว่าหากมีการยกเลิกจริงจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยแน่นอน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องล้างไตผ่านเครื่องที่ต้องมีพยาบาลดูแล ซึ่งการจัดสรรเงินค่าตอบแทนรูปแบบนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน แต่หากโอนงบค่าตอบแทนนี้ไปยังหน่วยบริการหรือกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการแทน อาจทำให้ผู้ป่วยประสบปัญหาการเข้าถึงบริการเช่นเดิม

“การจัดสรรค่าตอบแทนไปยังบุคคลนั้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดบุคลากรในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเครื่องฟอกไตพร้อมทำงาน 24 ชั่วโมง แต่ก่อนหน้านี้เปิดบริการเพียงแค่ 8 ชั่วโมง ล้างไตให้ผู้ป่วยได้แค่ 2 รายต่อเครื่อง การเปิดบริการผู้ป่วยนอกเวลาโดยให้ค่าตอบแทนบุคลากรเพิ่มเติม ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคไตเข้าถึงบริการรักษามากขึ้น” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวและว่า ทั้งนี้การจ่ายค่าตอบแทนนี้ ต้องเข้าใจว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะหน่วยงานในสังกัด สธ.เท่านั้น  แต่มีทั้งหน่วยบริการภาคเอกชนและของท้องถิ่น การยกเลิกต้องคำนึงถึงหน่วยบริการอื่นด้วย   

นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ยอมรับการการจัดสรรค่าตอบแทนรายบุคคล เป็นการทำงานที่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง แต่ต้องยอมรับว่าผลที่ได้ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ไม่แต่เฉพาะผู้ป่วยโรคไตเท่านั้น แต่รวมถึงโครงการจัดการรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค อย่างเช่น การผ่าตัดผู้ป่วยตาต้อกระจก การผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่เป็นโครงการเพื่อลดการรอคิว ที่เป็นหลักการสำคัญของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา เพราะหากจัดสรรตามงบเหมาจ่ายรายหัวตามปกติจะทำให้การเข้าถึงล่าช้า แต่ทั้งนี้โครงการเหล่านี้ควรเป็นโครงการเฉพาะกิจ ไม่ควรทำไปตลอด เพราะจะส่งผลกระทบได้ ดังนั้นหากระบบการรักษาเริ่มเข้าที่ก็ควรที่จะปล่อยให้เป็นกระบวนการปกติ 

“ส่วนตัวมองการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นเพียงท่าทีของปลัดกระทรวงสาธารณสุขและหมอบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์จากการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น เสียผลประโยชน์บริหารงบประมาณ และมองว่าเป็นเรื่องการเมือง” นางสาวสุรีรัตน์กล่าว