ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

22 ปี กรมสุขภาพจิต เผย ผู้ป่วยจิตกว่า 5 แสน ยังเข้าไม่ถึงบริการ ทั่วประเทศ มีเตียงผู้ป่วยจิตเวช เพียง 10%

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันครบรอบ 22 ปี วันสถาปนากรมสุขภาพจิต ว่า งานสุขภาพจิตได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้จัดตั้ง “โรงพยาบาลคนเสียจริต”(สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2432 สังกัดกรมพยาบาล กระทรวงธรรมการในสมัยนั้น นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา125 ปีมาแล้ว และด้วยปัญหาสุขภาพจิตที่มีมากขึ้น โดย พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2535 วันที่ 9 เม.ย. 2535 กองสุขภาพจิต กรมการแพทย์ ได้เปลี่ยนเป็น “สถาบันสุขภาพจิต” ยกระดับให้มีฐานะเทียบเท่ากรม เพื่อทำหน้าที่ในการประสานกิจกรรม ค้นหาแนวทางและวิธีการในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต และในเวลาต่อมา โดย พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2537 วันที่ 2 ธ.ค.2537 สถาบันสุขภาพจิต ได้เปลี่ยนมาเป็น “กรมสุขภาพจิต” จวบจนปัจจุบัน

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า งานสุขภาพจิตเริ่มเข้าสู่ยุคของการส่งเสริมและป้องกัน ซึ่งมีแนวคิดหลักในการเสริมสร้างสมรรถภาพทางจิตของประชาชนให้มีคุณภาพ และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมสามารถพึ่งพาตนเองและดูแลช่วยเหลือกัน โดยกลวิธีการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในระบบบริการสาธารณสุขตามนโยบายการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข มีการพัฒนาและสนับสนุนวิชาการ และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการสร้างความรู้และวิธีการในการดูแลสุขภาพจิต เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งทางด้านสุขภาพจิตให้แก่ประชาชน ตลอดจนเป็นช่วงของการขยายงานสุขภาพจิตกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชที่สำคัญ

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของสำนักบริหารสารสนเทศการประกัน สปสช. ณ วันที่ 1 ต.ค.2555  พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเภทซึ่งเป็นโรคจิตที่พบมากที่สุดในบรรดาโรคจิตประเภทอื่น โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ ทุกระดับการศึกษา อาชีพ และฐานะ แต่กลับพบว่าเข้าถึงบริการเพียง 260,592 คน หรือร้อยละ 48.4 ของจำนวนผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด และคาดว่า ยังมีผู้ป่วยอีกประมาณ 5 แสนกว่าคน ที่ยังไม่ได้รับการรักษาหรือยังเข้าไม่ถึงบริการ ทั้งนี้ ยิ่งพบแพทย์เร็ว อาการก็จะทุเลาได้เร็วและทุเลาได้มากขึ้น นอกจากนี้ ก็ยังพบว่า ปัจจุบัน มีเตียงผู้ป่วยจิตเวชในสถานบริการสาธารณสุข เพียงร้อยละ 10 ของจำนวนเตียงทั่วประเทศ (จำนวนเตียงทั่วประเทศ 4,850 เตียง)    ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 จะอยู่ในสถาบัน/โรงพยาบาลจิตเวช

อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตได้พยายามผลักดันให้มีการค้นหาและจัดบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้านใกล้ใจ มีการขยายบริการและเตียงผู้ป่วยจิตเวชกระจายในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรองรับการให้บริการและติดตามการรักษาผู้ป่วยจิตเวชอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระการเดินทางของประชาชนในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช และเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม ซึ่งในปีนี้ เป็นปีครบรอบปีที่ 22 ของการสถาปนากรมสุขภาพจิต และเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งด้านเศรษฐกิจ และวิกฤตทางการเมือง กรมสุขภาพจิตจึงได้มีนโยบายในการเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตประชาชนคนไทยให้เข้มแข็ง สามารถก้าวผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นไปได้ด้วยดี ตลอดจนมีแผนการกระจายเตียงผู้ป่วยจิตเวชและบริการสุขภาพจิตและจิตเวชสู่ระบบบริการสาธารณสุขตามนโยบายการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข รวมถึงการบูรณาการงานสุขภาพจิตกับระบบการจัดการสุขภาพระดับอำเภอทั่วประเทศ อีกทั้งจัดประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการสุขภาพจิตระดับนานาชาติร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและเครือข่ายการดำเนินงานสุขภาพจิตระหว่างประเทศ รวมทั้งเครือข่ายการทำงานสุขภาพจิตในภาวะวิกฤต เครือข่ายการพัฒนาสุขภาพจิตทุกกลุ่มวัยจากหลากหลายหน่วยงาน เพื่อร่วมกันหาแนวทางและกิจกรรมในการเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตให้สังคมไทยมีความสุขตลอดไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว