ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์จับมือโรงพยาบาลในสังกัด ตั้ง “หน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิต” ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แบบประคับประคองครอบคลุม 4 มิติ มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย

วันที่ 8 เมษายน 2557 ที่ โรงพยาบาลสงฆ์ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลัง   เป็นประธานในพิธีเปิด “หน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิต”ว่า กรมการแพทย์ เป็นกรมวิชาการให้บริการทางการแพทย์  ที่ซับซ้อนโดยใช้บุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะ และเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มาด้วยปัญหาทางการแพทย์ที่ซับซ้อน ทำให้มีอัตราการเสียชีวิต หรือรักษาไม่หายขาดมีเป็นจำนวนมาก เช่น โรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานที่เผชิญปัญหาเหล่านี้สูงมาก  จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหารูปแบบการให้บริการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และมีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลนำร่อง 7 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ และโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี เพื่อหารูปแบบการดูแลผู้ป่วย  ระยะสุดท้ายที่เหมาะสมกับบริบทของการดูแลของโรงพยาบาลตติยภูมิหรือสูงกว่า พร้อมทั้งรวบรวม   ทบทวนองค์ความรู้และสังเคราะห์ รูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  ศึกษาข้อดี ข้อเสีย ติดตามประเมินผลความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ เพื่อนำไปปรับปรุงและจัดทำเป็นคู่มือขยายผลไปยังโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดของกรมการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อจัดตั้งหน่วยงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีมาตรฐานเดียวกันอย่างครอบคลุม

นายแพทย์สมนึก อร่ามเธียรธำรง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์  เป็นโรงพยาบาลที่ดูแลรักษาพระภิกษุ-สามเณรมากว่า 63 ปี พบว่าพระภิกษุอาพาธ ร้อยละ 60 เป็นผู้สูงอายุ  และมีโรคเรื้อรังรวมทั้งเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายที่ต้องการการดูแลแบบประคับประคอง หน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิตจะช่วยให้การดูแลรักษาพระภิกษุที่อาพาธมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ กิจกรรมการดูแลรักษาทางร่างกาย เช่น การบรรเทาปวดโดยการใช้ยาระงับปวดเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทรมาน การดูแลการพักผ่อน นอกจากนี้ยังมีบริการนวดเพื่อผ่อนคลาย การแช่มือและเท้าด้วยสมุนไพร กิจกรรมการดูแลรักษาทางจิตใจ เช่น การเปิดเทปธรรมะ มุมอ่านหนังสือธรรม การทำวัตรเช้า-เย็น การสวดมนต์ทุกวันพระร่วมกันทั้งผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่ การจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา เป็นต้น กิจกรรมการดูแลรักษาทางด้านจิตวิญญาณ โดยจะมีพยาบาล  ผู้จัดการผู้ป่วยแต่ละรายเป็นผู้ประเมินด้านความเชื่อ ค้นหาสิ่งค้างคาใจที่ผู้ป่วยต้องการทำในวาระสุดท้าย เช่น อยากพบบุคคลใดเพื่อขออโหสิกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ   และกิจกรรมทางด้านสังคม  โดยให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมกับญาติและครอบครัว เพื่อให้กำลังใจระหว่างกัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ดูแลอย่างเป็นขั้นตอน เสริมสร้างคุณภาพทางร่างกายให้แข็งแรง และมีความสุขในการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไป