ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - แพทย์โรคหัวใจ ม.เชียงใหม่ รับรางวัลรอง ชนะเลิศ "นักวิจัยรุ่นใหม่" ในเวทีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 63 ปี ระบุผลงานวิจัยเป็นการพัฒนาวิธีรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบใหม่ หวังลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ในอนาคต

นพ.เกริกวิชช์ ศิลปวิทยาทร อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการแข่งขันชิงรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา สาขาสรีรวิทยา พยาธิวิทยาและเภสัชวิทยา ประจำปี 2557 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา

การแข่งขันดังกล่าวเป็นเวทีระดับโลก ที่คัดเลือกผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดจากทั่วโลกให้เหลือเพียง 5 เรื่อง เพื่อร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคม โดยมีคู่แข่งจากโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อาทิ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 63 ปี ที่มีผลงานที่ทำในประเทศไทยตลอดทั้งโครงการถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอในเวทีแห่งนี้

ทั้งนี้ นพ.เกริกวิชช์ได้พัฒนาวิธีการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบใหม่ โดยอาศัยวิธีการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสซึ่งเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 บริเวณลำคอ เพื่อลดปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายในกรณีที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน  สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากการตีบหรืออุดตันอย่างเฉียบพลันของหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งวิธีการรักษาในปัจจุบันสามารถทำได้โดยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหลอดเลือดหัวใจ แต่การที่ปล่อยให้เลือดไหลกลับเข้าไปเลี้ยงในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจที่มีการขาดเลือดอยู่นั้น อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อหัวใจได้โดยตรง และทำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจตามมาได้ ซึ่งเรียกว่า "ภาวะบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดจากการที่ปล่อยเลือดกลับไปเลี้ยงใหม่" ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่สามารถป้องกันภาวะนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้

ทีมผู้วิจัยพบว่า การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสบริเวณลำคอ สามารถลดปริมาณกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ถึงร้อยละ 59 ในหัวใจของสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันขึ้น

เทคนิคการกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสบริเวณลำคอนี้ปัจจุบันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาและโรคซึมเศร้า เป็นต้น ในส่วนของโรคหัวใจได้มีการเริ่มนำเอาเทคนิคนี้มาทดลองใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 10 เมษายน 2557

เรื่องที่เกี่ยวข้อง