ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เผยเด็กตายจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด เพราะไม่ได้ระบบยึดเหนี่ยวในรถ ชี้ กม. บังคับคาดเข็มขัดนิรภัยไม่เอื้ออำนวยสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบ จี้รณรงค์ใช้ที่นั่งนิรภัยให้เหมาะสมกับช่วงอายุตั้งแต่ทารกถึง 9 ขวบ ระบุต้องติดตั้งที่เบาะหลังเท่านั้น ช่วยลดบาดเจ็บรุนแรงได้ถึง 5 เท่า ลดอัตราการตายได้สูงถึง 70%

เวบไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (10 เม.ย.) ที่ รพ.รามาธิบดี รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวแถลงโครงการรักลูก...ให้รอดปลอดภัย...เมื่อใช้รถ เดินทางท่องเที่ยวสงกรานต์ปลอดภัย ด้วยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ว่า จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า เด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถยนต์ทุกประเภท ไม่รวมรถจักรยานยนต์บาดเจ็บรุนแรงปีละ 1,294 ราย เสียชีวิตปีละ 101 ราย โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์อัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมดคือน้อยละ 46 โดยเป็นอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึงร้อยละ 16.5 เกือบครึ่งของการตายมาจากการโดยสารรถยนต์ เนื่องจากไม่ได้ใช้ระบบยึดเหนี่ยวในรถยนต์ คือ ไม่ได้ใช้เข็มขัดนิรภัยและที่นั่งนิรภัย ทั้งนี้ การนั่งหลังส่วนกระบะท้ายมีความเสี่ยงต่อการตายเมื่อเกิดอุบัติเหตุถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับนั่งภายในรถ และ 1 ใน 3 ของเด็กที่บาดเจ็บจากการนั่งส่วนท้ายรถกระบะ เกิดขึ้นจากการพลัดตกโดยไม่มีการชน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ไทยมีกฎหมายบังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัย แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ผลกับเด็ก เพราะเข็มขัดนิรภัยในรถเหมาะกับเด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไป ทำให้เด็กที่อายุต่ำกว่านี้ไม่สามารถใช้ได้ เพราะเมื่อคาดแล้วเข็มขัดจะไม่พาดที่ไหล่ แต่จะพาดผ่านหน้าหรือคอ ดังนั้น หากต้องการลดการตายของเด็กจากการโดยสารรถยนต์ จะต้องรณรงค์และบังคับให้ใช้ระบบยึดเหนี่ยวที่เหมาะสมกับช่วงอายุ โดยเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบจะต้องมีการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กทารกหรือคาร์ซีต มีลักษณะเป็นเปลถือออกนอกรถได้ วิธีใช้คือต้องให้นั่งที่เบาะหลัง แล้วหันหน้าออกด้านหลังรถ เพื่อลดความเสี่ยงการบาดเจ็บจากกระดูกต้นคอ โดยที่นั่งนี้จะมีเข็มขัดนิรภัยในตัวเองเพื่อยึดตัวเด็ก และใช้เข็มขัดนิรภัยรถยึดที่นั่งเอาไว้ เช่นเดียวกับเด็กอายุ 2-5 ขวบ จะมีลักษณะการใช้งานเหมือนกัน แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ส่วนเด็กอายุ 5-9 ขวบ จะเป็นที่นั่งเสริมหรือบูสเตอร์ ไม่มีเข็มขัดนิรภัยในตัว แต่จะเป็นการเสริมที่นั่งให้สูงขึ้น เพื่อให้เด็กสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยในรถได้ โดยระบบยึดเหนี่ยวช่วยลดกอัตราการตายในเด็กทารกได้ 70% อายุ 1-4 ขวบ 47% และมากกว่า 5 ขวบลดได้ 45%

“การใช้ระบบยึดเหนี่ยวเหล่านี้ต้องใช้ที่เบาะหลังเท่านั้น เพราะสามารถลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 5เท่า เว้นแต่รถปิกอัพหรือกระบะที่จำเป็นต้องไว้เบาะหน้าข้างคนขับ แต่ที่สำคัญคือจะต้องไม่มีถุงลมข้างคนขับ หรือมีแต่ต้องสามารถปิดการทำงานได้ เพราะหากใช้ถุงลมนิรภัยข้างคนขับอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก อย่างไรก็ตามการใช้ระบบยึดเหนี่ยวในรถยนต์สำหรับเด็กยังมีการใช้น้อยมากคือไม่ถึง 1% จึงต้องเร่งรณรงค์ในเรื่องนี้ โดยอาจต้องแก้มาตรา 123 เรื่องการใช้เข็มขัดนิรภัย พ.ร.บ.จราจรทางบก ให้ครอบคลุมความปลอดภัยในเด็ก และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในเรื่องการจับกุม นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมรณรงค์จริงจัง เช่น โรงพยาบาลต้องตรวจสอบการเดินทางครั้งแรกของเด็กทารกหลังคลอดก่อนออกจากโรงพยาบาลว่ามีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือไม่ โรงเรียนควรรณรงค์ให้ผู้ปกครองมีการใช้ที่นั่งนิรภัย เป็นต้น” รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวและว่า ประเด็นสำคัญคือควรมีการสนับสนุนให้ลดภาษีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ให้มีราคาถูกลง เพิ่มโอกาสการตัดวินใจของผู้ใช้ ซึ่งปัจจุบันราคาของที่นั่งนิรภัยมีตั้งแต่ประมาณ 3,000 บาท ไปจนถึงเกือบ 30,000 บาท

นางนัยนา ขนอนเวช ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลทานตะวัน กล่าวว่า ที่โรงเรียนมีการรณรงค์ให้ผู้ปกครงใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก โดยให้ครูเวรจดบันทึกว่ารถของผู้ปกครองคันใดที่ไม่มีการใช้ที่นั่งนิรภัย ก็จะไปรณรงค์กับเด็กเพื่อให้เด็กตระหนักถึงอันตราย โดยใช้วิธีการเล่านิทานให้ดูหนังตัวอย่างว่าการที่ให้คุณพ่อคุณแม่นั่งกอดบนรถ การเล่นกันบนรถ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายอย่างไร เมื่อเด็กเกิดความกลัวก็จะไปบอกพ่อแม่ให้มีการใช้ที่นั่งนิรภัย ซึ่งหลังจากดำเนินการรณรงค์ก็พบว่ามีการใช้ที่นั่งนิรภัยเพิ่มมากขึ้น