ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เครือข่ายงดเหล้า” จี้ บช.น. เข้มน้ำเมาปัญหาสงกรานต์ ทั้งดื่มแล้วขับ-ดื่มบนรถ ห่วงก๊งเหล้าเล่นน้ำท้ายกระบะเสี่ยงเท่าตัว เชียร์จัดหนักร้านขายให้คนเมาขาดสติ พร้อมมอบสื่อรณรงค์ “บนรถขณะอยู่บนทาง งดดื่มสุรา” เพื่อประชาสัมพันธ์ทั่วกรุง
       
วันนี้ (10 เม.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลงานจราจร เพื่อเรียกร้องคุมเข้มปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาลวนลามคุกคามทางเพศช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้เครือข่ายฯ ได้มอบสื่อรณรงค์ป้ายแบนเนอร์ “บนรถขณะอยู่บนทาง งดดื่มสุรา” เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักจำนวน 1,000 ผืน
       
เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะเล่นน้ำ การบรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะตระเวนเล่นสาดน้ำ การเล่นสาดน้ำที่รุนแรง การทะเลาะวิวาท ปัญหาเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต เพราะถ้าในรถมีคนนั่งท้ายกระบะ 10 คน จะมีความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำถึง 2 เท่า หากลุกขึ้นยืนยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็น 4 เท่า ที่สำคัญหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นทวีคูณ ดังนั้นเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เครือข่ายฯจึงขอเสนอแนวทางให้ตำรวจนครบาล ดังนี้ 1. ขอให้บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ดื่มแล้วขับ และผู้ที่ดื่มสุราบนรถขณะอยู่บนทาง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างจริงจัง ทั้งนี้หากพบว่าผู้ก่อเหตุอยู่ในอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ควรเชื่อมโยงไปให้ถึงผู้ที่ขายสุราดังกล่าวให้ ซึ่งจะมีความผิดถึงขั้นจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่ขายสุรารายนั้นด้วย 2. ขอให้มีการตั้งด่านตรวจ ห้ามผู้ใดนำสุราเข้าไปในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ซึ่งถูกขอความร่วมมือให้พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ สีลม ข้าวสาร โชคชัย 4 และถนนอักษะ เป็นต้น ทั้งนี้อาจทำโครงการฝากเหล้าไว้กับตำรวจก่อนเข้าพื้นที่เล่นน้ำโดยการทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร สรรพสามิต และสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 3. ขอให้มีการตั้งจุดรับเรื่องร้องเรียน การคุกคามทางเพศ รวมถึงการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนและนักท่องเที่ยว
       
“ข้อมูลในช่วง 7 วันอันตราย 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในระดับทรงตัว นั่นแสดงว่ามาตรการที่ใช้อยู่เริ่มได้ผลน้อย ปีที่แล้วพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 2,828 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 321 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 3,040 คน ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่สุดของอุบัติเหตุทั้งหมดเกือบ 40% คือการเมาสุรา อีกทั้งปัญหาซึ่งมักจะเกิดขึ้นตามมามากขึ้นในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ที่มักจะพบการลวนลามคุกคามทางเพศมากขึ้น รวมไปถึงการทะเลาะวิวาท สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเมาสุราเช่นเดียวกัน เครือข่ายจึงขอให้เฝ้าระวังปัญหาการเล่นน้ำที่ไม่สุภาพ ลวนลาม ฉวยโอกาส ซึ่งทั้งหมดถือว่าผิดกฎหมายอาญาว่าด้วยการอนาจารด้วย” เภสัชกรสงกรานต์กล่าว