ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ย้ำเตือนช่วงอากาศร้อน ผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคลมแดด ซี่งมีอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ให้ลูกหลานเพิ่มความดูแลเป็นพิเศษ ให้จิบน้ำเปล่าบ่อยๆและพกน้ำระหว่างเดินทาง หลีกเลี่ยงดื่มเครื่องดื่ม 4 ชนิดที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 13 เมษายนทุกปีนอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุมาโดยตลอด เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขในครอบครัว จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย ในปี 2556 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 9.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากรทั้งหมด และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ขอให้ผู้ดูแลหรือญาติ ใส่ใจดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง พิการ หรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ควรดูแลระบบระบายอากาศภายในบ้านที่เหมาะสม เช่น พัดลม พัดลมระบายอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น และขอให้คอยสังเกตอาการผิดปกติเป็นพิเศษ โรคที่น่าห่วงและอาจเกิดกับผู้สูงอายุในช่วงอากาศร้อนได้คือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke ) หรือเรียกว่า โรคลมแดด แม้เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่เมื่อพบแล้ว มักมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงเป็นโรคลมแดด ได้แก่ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น สัญญานอาการเฉพาะโรคนี้ สงเกตุได้ง่าย คือ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน อาการที่กล่าวมานี้ จะแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆไป ซึ่งมักจะมีเหงื่อออกด้วย

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า วิธีการป้องกันโรคดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงให้ผู้สูงอายุอยู่ในที่มีความร้อนสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ให้สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบาและระบายความร้อนได้ดี ให้จิบน้ำเปล่าทีละน้อยแต่บ่อยๆ รวมแล้วให้ได้ 6-8 แก้วต่อวัน ประการสำคัญ ผู้สูงอายุเองต้องไม่ปล่อยให้ตนเองรู้สึกกระหายน้ำเป็นเวลานาน ในสภาวะอากาศร้อนเป็นอันขาด ถึงแม้จะดื่มน้ำมากขึ้นแล้วก็ตาม ต้องดื่มน้ำเพิ่มเติมทันที เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย กรณีที่เดินทางขอให้พกน้ำสะอาดติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อจิบระหว่างทาง

 “เครื่องดื่มที่ผู้สูงอายุที่ควรหลีกเลี่ยงดื่มเพื่อคลายร้อน เนื่องจากจะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้มี 4 ชนิด ได้แก่ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เนื่องจากสารคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ จะไปกระตุ้นไห้ไต ขับน้ำออกจากร่างกายมากกว่าน้ำที่ดื่มเข้าไป ทำให้ปัสสาวะบ่อย และสูญเสียน้ำ ทำให้ร่างกายอยู่ขาดน้ำรุนแรงขึ้นไปอีก ” นายแพทย์ณรงค์กล่าว

ทั้งนี้ หากพบผู้สูงอายุเกิดอาการเป็นโรคลมแดด ในการช่วยเหลือเบื้องต้น ขอให้นำผู้ป่วยเข้าไปในที่ร่ม คลายเสื้อผ้าให้หลวม แล้วเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศโกรกให้ผู้สูงอายุ และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดา เช็ดตามร่างกายให้ทั่ว หรือใช้น้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาราดลงบนแขนขาไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกาย แล้วช่วยบีบนวดกระตุ้นการไหลเวียนเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ ไม่แนะนำให้นำผ้าเปียกห่มทับบนตัวผู้ป่วย เนื่องจากจะขัดขวางการระเหยของเหงื่อได้ช้าลง หากเป็นไปได้ใช้ปรอทวัดไข้วัดอุณหภูมิร่างกายเป็นพักๆ หากอุณหภูมิลดลงถึง 38 – 39 องศาเซลเซียส ให้ค่อยๆชะลอการชุบน้ำเย็นลง หากผู้ป่วยมีสติแล้ว ให้ดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำเย็นเป็นระยะๆ หากยังไม่ดีขึ้นให้โทรแจ้งที่หน่วยแพทย์กู้ชีพ หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง