ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.หนุนพัฒนาโรงพยาบาลและเครือข่ายบริการสุขภาพ จัดระบบ Stroke Fast Track ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเข้าถึงการรักษาเพิ่ม ทั้งการวินิจฉัย และผ่าตัดสมอง 7 ปี ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากร้อยละ 16.90 ต่อแสนประชากรในปี 2548 เหลือร้อยละ 14.29 ต่อแสนประชากรในปี 2555 รวมทั้งลดภาวะพิการจากอัมพฤกษ์อัมพาต พร้อมเดินหน้าเชิงรุก เน้นรู้เร็ว วินิจฉัยและรักษาเร็ว ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น    

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตติดอันดับต้นๆ ของโรคที่มีอัตราการตายสูงสุดในประเทศไทย จากข้อมูลการรายงานสถิติสาธารณสุขในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 18.2 ต่อแสนประชากรในปี 2544 เป็น 27.5 ต่อแสนประชากรในปี 2553 ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากข้อมูลการรายงานเสียชีวิต 10 อันดับแรกของคนไทย จัดทำโดยสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศยังระบุด้วยว่า ปี 2552 โรคหลอดเลือดสมองได้ขยับขึ้นเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรไทยทั้งชายและหญิง จึงนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องเร่งแก้ไข

ทั้งนี้ในด้านการรักษาพยาบาล สปสช.ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน มองว่าในจำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนหนึ่งสามารถช่วยให้รอดจากเสียชีวิตและพ้นจากความพิการภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตได้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยเหตุนี้ในปี 2551 สปสช.จึงได้มุ่งพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการและเครือข่ายให้มีความพร้อมและสามารถรับดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างครบวงจร โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำช่องทางด่วนรักษาพยาบาล (Stroke Fast Track) ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวินิจฉัยโรค การทำหัตถการ และการผ่าตัดรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเท่าที่จะทำได้

“การวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที เป็นหัวใจสำคัญของการช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ ที่ผ่านมา สปสช.จึงสนับสนุนโรงพยาบาลและเครือข่ายบริการพัฒนาช่องทาง Stroke Fast Track เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า หลังพบอาการบ่งชี้ว่าเป็นภาวะโรคหลอดเลือดในสมอง อาทิ เกิดภาวะอ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก ชาครึ่งซีก เวียนศีรษะ ร่วมกับเดินเซ ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปวดศีรษะ อาเจียน ซึม และไม่รู้สึกตัว เป็นต้น หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการรับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 3 ชั่วโมง จะลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ลงได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่เข้าร่วมเครือข่ายบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพื่อให้ได้รับการรักษาโดยเร็วครอบคลุมทั้ง 13 เขต โดยมีหน่วยบริการที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 861 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 769 แห่ง ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นหน่วยบริการแม่ข่าย 35 แห่ง หน่วยบริการลูกข่ายที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ 140 แห่ง หน่วยบริการลูกข่ายที่ไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ แต่สามารถวินิจฉัยอาการได้ 686 แห่ง ซึ่งผลลัพธ์การดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551-2555 พบว่าอัตราการช่วยผู้ป่วยได้ทันเวลามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  

สำหรับข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพบว่า สามารถช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล 133.80 ต่อแสนประชากร และเพิ่มขึ้นเป็น 150.53, 167.93, 193.51 และ 203.01 ต่อแสนประชากร ในปี 2550, 2552, 2554 และ 2555 ตามลำดับ เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองด้วยซีที-สแกน (CT-scan) ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งจำนวนการทำซีที-สแกน และอัตราการทำซีที-สแกน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27.73 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 75.17 ในปี 2555 และการผ่าตัดสมองกรณีโรคหลอดเลือดสมองแตก มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 3,009 รายต่อปี ในปี 2548 เป็น 4,303 ราย ในปี 2555 โดยมีอัตราการผ่าตัดสมองอยู่ที่ร้อยละ 17.67 โดยข้อมูลการรับรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนี้ สอดคล้องกับอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง จากร้อยละ 16.90 ต่อแสนประชากรในปี 2548 เหลือร้อยละ 14.29 ต่อแสนประชากรในปี 2555

“โรคหลอดเลือดสมองเป็นหนึ่งในโรคค่าใช้จ่ายสูงที่ สปสช.สามารถบริหารจัดการ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา แม้ว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเข้าถึงการรักษาได้ในช่วงชั่วโมงวิกฤต แต่ยังคงต้องเดินหน้าพัฒนาเชิงรุกต่อไป เน้นการให้ข้อมูลโรค เพาะหากผู้ป่วยรู้ตัว ได้รับการวินิจฉัยและรักษาเร็ว จะช่วยผู้ป่วยได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เลขาธิการ สปสช. กล่าว