ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้บริหาร สปสช.เรียงแถวแถลงจุดยืนเน้นแสวงความร่วมมือกับทุกฝ่าย รวม สธ. ชี้เห็นด้วยในหลักการข้อเสนอปรับบทบาท สสจ. แยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการออกจากกัน ลดประโยชน์ทับซ้อน ต้น พค.เตรียมเสนอบอร์ด พิจารณา เผยตั้งทีมเจรจาเบื้องต้นกับ สธ.แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงบริหารกองทุนตามกฎหมายต้องผ่านบอร์ด ชูทิศทางปฏิรูปหลักประกันสุขภาพ เน้นกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและส่งเงินตรงให้หน่วยบริการ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคระหว่างกองทุน เพื่อคนไทยได้รับบริการเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยรองเลขาธิการและผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. ได้แถลงข่าวและตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน กรณีปลัดกระทรวงสาธารณสุขยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อมายังบอร์ด สปสช. และให้ตอบภายใน 2 สัปดาห์ โดยปลัด สธ.อ้างถึงกรณีที่ สตง. ทักท้วงการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนบัญชี 6 ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในฐานะ สปสช. สาขาจังหวัด และรองปลัด สธ.เสนอให้ยกเลิกการมอบหมายให้ สสจ.เป็นสาขาจังหวัดของ สปสช.เพราะผิดหลักการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการออกจากกัน

นพ.วินัย กล่าวว่า ประเด็นที่ สตง.ทักท้วงการใช้จ่ายเงินนั้น ไม่มีประเด็นการทุจริต แต่เป็นการใช้จ่ายเงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ตรงตามประกาศ สปสช. “เมื่อมีการทักท้วงการบริหารเงินบัญชี 6 ของสาขาจังหวัด จาก สตง.จึงจำเป็นต้องตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นกลางร่วมดูข้อเท็จจริงและถ้าเป็นการเข้าใจผิดหรือไม่จงใจให้เกิดความเสียหาย ก็จะได้ชี้แจงกับ สตง.ได้” เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า ปัญหาการทำงานร่วมและความเห็นที่แตกต่างระหว่าง สปสช.และ สธ.ที่เกิดขึ้นตั้งแต่มีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต่อเนื่องมาสิบกว่าปี แม้ว่าก่อนหน้านี้หลายอย่างได้คลี่คลายดีขึ้น แต่เมื่อมีการหยิบยกปัญหาขึ้นมาแล้ว ทาง สปสช.ก็ได้ให้ความสำคัญด้วยการตั้งทีมเจรจาไว้แล้วทั้งหมดเป็นผู้บริหารระดับสูง คือ เลขาธิการ รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกับ สธ. และถ้าเป็นประเด็นที่เกินอำนาจหน้าที่ ก็จะเสนอบอร์ด สปสช.พิจารณาต่อไป “หลักการทำงานของ สปสช.คือยึดถือประโยชน์ของประชาชนและผู้ป่วย โดยการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลหน่วยบริการสาธารณสุขกว่า 800 แห่งและเครือข่าย รพ.สต.กว่า 12,000 แห่งทั่วประเทศ” เลขาธิการ สปสช.ย้ำ

ต่อประเด็นข้อทักท้วงของ สตง. นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สตง.ได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2555 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการสุ่มตรวจสอบลงไปในระดับจังหวัด ทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ราชบุรี สมุทรสาคร ระยอง จันทบุรี และตราด โดยตรวจพบว่าสาขาจังหวัดมีการใช้เงินในบัญชี  6 ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ หรือไม่มีระเบียบ ประกาศของ สปสช.รองรับ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นการทุจริต และเสนอให้ สปสช. และ สธ. ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีองค์ประกอบนอกจาก สปสช. และ สธ. แล้ว ยังมีตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ตัวแทนกรมบัญชีกลางและตัวแทนจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรียน(กพ.) ร่วมด้วย ทั้งนี้จะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 30 เม.ย.นี้ โดยกระบวนการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่ สตง.ทักท้วงมา เพื่อเสนอ บอร์ด สปสช.พิจารณาต่อไป “การทักท้วงของ สตง. ส่วนใหญ่เกิดจากการตีความในมุมมองของ สตง. แต่หากเป็นคณะกรรมการที่อยู่ในสายงานด้านสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ก็อาจจะมีมุมมองและความเห็นอีกแบบเพื่อไปอธิบายและชี้แจงในสิ่งที่ สตง.ทักท้วงได้” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

สำหรับประเด็นที่ปลัด สธ.ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และรองปลัด สธ.ต้องการให้ สสจ.ยุติการทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัด เพราะเป็นทั้งผู้ให้บริการและผู้ชื้อบริการ ทำให้ไม่ตรงกับหลักการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการออกจากกัน หรือที่เรียกว่า Provider Purchaser Spilt นั้น นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า “สปสช. ตระหนักถึงปัญหาความทับซ้อนในบทบาทหน้าที่ของ สสจ.ดังกล่าวมาโดยตลอด และเห็นด้วยในหลักการที่ สธ.เสนอให้แยกบทบาทออกจากกัน รวมทั้งให้ยกเลิกประกาศหรือระเบียบการจัดสรรเงินผ่านบัญชี 6  อย่างไรก็ตามประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่อาจกระทบต่อหน่วยบริการและประชาชนในพื้นที่ จึงต้องมีเวลาตระเตรียมขยายความพร้อมของ สปสช.เขตพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว 13 เขต รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือจากภาคีต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะนำข้อเสนอทั้งหมดของปลัด สธ.เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในต้นเดือน พค.นี้ เพื่อให้ทันกับการประกาศใช้ ตค.ต้นปีงบประมาณ 2558 นี้”

“เรื่องนี้ สปสช.เห็นด้วย เพราะโดยหลักการแล้วผู้ซื้อและผู้ให้บริการต้องแยกจากกัน ซึ่งบทบาทของ สสจ. ขัดกับกฎหมาย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ระบุว่าภารกิจหลักประกันสุขภาพจะเป็นบทบาทของ สปสช. และ มาตรา 42-43 พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดชัดเจนว่าบทบาทของ สธ. ต้องตัดการจัดระบบหลักประกันสุขภาพออกจาก สธ. ขณะนี้มี สปสช. สาขาเขตแล้ว และชุมชนเริ่มดูแลตนเองได้ ไม่เหมือนตอนแรกที่เริ่มดำเนินการ จึงต้องให้ สสจ. ทำหน้าที่ดังกล่าว ทางที่เป็นไปได้คืออาจขยายความพร้อมลง สปสช. สาขาเขตเข้ามาดูแล และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเริ่มมีความเข้มแข็งเข้ามาดูแลเรื่องการขึ้นทะเบียนการใช้สิทธิต่างๆ รวมทั้งเห็นด้วยในการยกเลิกจัดสรรงบบัญชี 6 ที่เดิมจะส่งไปพักที่ สสจ. ซึ่งจะนำข้อเสนอทั้งหมดนี้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในวันที่ 7 พ.ค. อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องแยกบทบาทระหว่างผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการให้ชัดเจน จริงๆ แล้วงานที่ สธ. ให้บริการคนชายขอบ คนไทยที่รอการพิสูจน์สัญชาติ หรือแม้แต่แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน ในการทำงานก็ยังไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องแยกให้ชัดเจนต่อไปด้วย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวว่า ประเด็นที่สอง ที่เสนอให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทนล้างไตหรือค่าตอบแทนอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกันที่มอบให้ สปสช. สาขาเป็นผู้จ่ายนั้น ขอชี้แจงว่าการจ่ายตามภาระงานเป็นการกระตุ้นให้ขยายการให้บริการและลดการรอคิวรับบริการ อย่างผู้ป่วยไตเพิ่มการเข้าถึงได้ถึง 10,000 คนต่อปี ผู้ป่วยต้อกระจกเพิ่มการเข้าถึงกว่า 100,000 รายต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีงบประมาณ 2557 บอร์ดสปสช.ได้มีมติยกเลิกให้ สสจ. เป็นผู้จ่ายเงินแล้ว โดยให้หน่วยบริการเป็นผู้จ่ายเงินเอง ส่วนประเด็นที่สามคือการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้งบค่าเสื่อมตามที่ สตง. ท้วงติงก็เป็นตามหลักการทั่วไป เมื่อมีการทักท้วงก็ต้องมีการยกเลิก ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วว่าทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาดูแล้วก็พบว่าเป็นเจตนาดีก็คงชี้แจงกับ สตง. ต่อไป

ช่วงท้ายของการแถลงข่าวและตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน นพ.วินัย เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สปสช.ได้ทำข้อเสนอ การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุขของไทย ซึ่งอย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า การเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เป็นจุดหมายหลักที่สำคัญของการปฏิรูประบบสาธารณสุขของไทย โดยยึดหลักการกระจายอำนาจและสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูประบบสาธารณสุขของไทยในอดีตที่อยู่ในทิศทางของการกระจายอำนาจ ขยายการจัดบริการสู่พื้นที่ที่ขาดแคลนมาตลอด โดยกลไกหลักที่ใช้ในการปฏิรูปนี้คือ การเงินการคลังด้านสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ทั้งยังได้รับคำชื่นชมจากประธานธนาคารโลก ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก และเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ยกให้ไทยเป็นต้นแบบประเทศกำลังพัฒนาที่ทำเรื่องนี้จนสำเร็จ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขก็ได้ให้ความเห็นเรื่องการปฏิรูประบบการเงินการคลังด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งก็นับว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เพราะระบบหลักประกันสุขภาพของไทยก็เกิดขึ้นและดำเนินการมากว่า 1 ทศวรรษแล้ว ผลสำเร็จคือสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า เป้าหมายต่อไป คือสร้างความเสมอภาคด้านการรับบริการสาธารณสุข ที่ได้เริ่มต้นมาบ้าง กับการบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ ดังนั้น ทิศทางต่อไปของการปฏิรูประบบสาธารณสุขของไทย ที่สปสช.จะมุ่งมั่นดำเนินการต่อไป คือ การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นและจ่ายเงินตรงให้หน่วยบริการสาธารณสุข ให้หน่วยบริการมีความหลากหลาย มีความอิสระและคล่องตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเน้นลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเสมอภาคให้กับคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพใด ให้ได้รับบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม