ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถิติการเกิดอุบัติเหตุของวันสงกรานต์ในปีนี้ที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว และปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนั่นคือ “เมาแล้วขับ” น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีให้ภาครัฐออกมาทบทวนบทบาทหน้าที่ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจังเสียที  โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆที่มีวันหยุดระยะยาว อย่างเช่นเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) 

“ต้องยอมรับกันว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต้องการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงสุด ขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตจะผลิตสินค้าออกมาให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค และมีผู้ขายเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน หรือพูดง่ายๆว่า เป็นช่วงไฮซีซั่นนั่นเอง ” นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)  ผู้ที่คลุกคลีกับงานที่ต้องต่อสู้ เพื่อที่ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ภายใต้กฎหมาย มานานนับสิบปี กล่าวถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีปัจจัยมาจากน้ำเมาและการขับรถเร็ว ขาดวินัยจราจร

ในช่วง 7 วันเทศกาลสงกรานต์ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ในการสำรวจตรวจพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น เลย กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ตาก ลำพูน เชียงใหม่ ชลบุรี  จันทบุรี และกรุงเทพมหานคร   พบว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   ฐานความผิดที่พบมากอันดับ 1 คือ การโฆษณาสื่อสารการตลาด 155 ราย   2. ขายโดยไม่มีใบอนุญาต 50 ราย 3. ดื่มในสถานที่ต้องห้าม เช่น ดื่มบนถนน สวนสาธารณะ 47 ราย    4.ขายโดยวิธีลดราคา แลก แจก แถม 40 ราย 5. ขายในเวลาห้ามขาย 34 ราย 6. ในที่ห้ามขาย เช่น ในปั๊มน้ำมัน บนฟุตบาท 34  และ7. ขายให้เด็ก 3 ราย

จากข้อมูลดังกล่าว ผจก. สคล.  กล่าวว่า  ทำไมเรายังพบผู้ที่กระทำผิดอยู่อีก ทั้งที่เรามีกฎหมายออกมาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งพบสาเหตุคือ 1. ประชาชนที่เดินทางในช่วงเทศกาลต่างๆยังนิยม หรือมีค่านิยมที่จะดื่มเพื่อความสนุก ครื้นเครงกัน 2. บริษัทผู้ผลิตส่งเสริมการขายในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยโปรโมชั่นต่างๆ รวมทั้งพ่อค้าคนกลาง  มีทั้งการส่งเสริมการขายโดยตรง เช่น มีสาวเชียร์เบียร์ตามร้านอาหาร หรือทางอ้อม ด้วยการเป็นสปอนเซอร์ให้กับงานดนตรี  ที่จัดในสถานที่ ที่กฎหมายกำหนดว่า ห้ามมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   ซึ่งเป็นการกระทำที่เย้ยกฎหมายมาก แต่บริษัทเหล่านี้ต่างฉกฉวยโอกาสในเทศกาลดังกล่าวสร้างยอดขายให้กับบริษัทของตนเอง แทนที่จะมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม

“ถ้าจะมองว่า ทำไมบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เขายังกล้าที่จะทำอีก ทั้งที่นโยบายระดับชาติในการที่จะควบคุมพื้นที่การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรงนี้เรามองว่า  ในช่วงเวลาดังกล่าว จำนวนเจ้าหน้าที่อาจมีน้อย กว่าจะเข้าไปจับกุมได้ เป็นไปได้ยาก เพราะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานตรงนี้ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยตรง ขณะเดียวกันหากหัวหน้างาน เช่น ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับผู้กำกับในพื้นที่ หรือนายกองค์กรส่วนท้องถิ่น ไม่ลงมาดูในพื้นที่โดยตรงแล้ว ระดับผู้ปฏิบัติการอาจทำงานได้ยากกกว่า  ซึ่งผู้ใหญ่ในพื้นที่ควรจะลงบัญชาการด้วยตนเอง งานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าทุกวันนี้”   นายธีระ  กล่าว

ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น เป็นตัวอย่างแรกๆของการจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ปลอดเหล้า  ซึ่งทาง สคล.ทำมาตั้งแต่ปี 49 จนถึงปัจจุบันที่มีถนนข้าวต่างๆที่จัดเป็นพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า ที่สร้างความปลอดภัยให้กับตัวนักท่องเที่ยว และยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเพณีวันสงกรานต์แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

“ในอนาคต ตนอยากเห็นพื้นที่เห็นความสำคัญของการจัดงานต่างๆปลอดเหล้า และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมีบทให้คุณให้โทษแก่ผู้ที่มีอำนาจในพื้นที่ ที่มีการปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นายธีระ กล่าว

สำหรับบทบาทของ สคล.ในวันนี้เรามุ่งที่กลุ่มเยาวชน และงานบุญประเพณีที่ปลอดเหล้าทั้งนี้  สคล.มีบทบาทหน้าที่ในการช่วยสกัดการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งกลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากและเป็นปัญหาที่แก้ได้ยากที่สุด โดยที่เด็กๆเหล่านี้เขาไม่รู้ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วจะมีผลเสียอะไรตามมาบ้าง ทั้งปัญหาความรุนแรง ปัญหาทางเพศ ปัญหาสุขภาพ เป็นต้น

ปัญหานักดื่มหน้าใหม่ เป็นปัญหาที่เราต้องแก้ที่ระบบของตัวเยาวชน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่กระบวนความคิด รวมทั้งค่านิยมและความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับการดื่ม ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญของเยาวชน หากอยู่ในครอบครัวที่ดื่ม เด็กมีโอกาสที่จะเป็นนักดื่มหน้าใหม่ได้ง่ายกว่าครอบครัวที่ไม่ดื่ม เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ซึ่งทางสังคมจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออก มีพื้นที่แสดงความคิด ให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยง

“มีคนกว่า 17 ล้านคน ที่เป็นนักดื่ม เราจะสกัดนักดื่มหน้าใหม่ได้  เราจะต้องเริ่มจากการลดจำนวนนักดื่มลงไปเรื่อยๆ  เมื่อลดจำนวนนักดื่มได้ก็จะส่งผลให้ลดจำนวนอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาแบบค่อยเป็นค่อยไป”

บทเรียนของเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ สะท้อนให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องทบทวนบทบาทและหน้าที่ของตนเองอีกครั้ง ซึ่งมาตรการที่จะเข้ามาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น นายธีระ เสนอว่า  ภาครัฐจะต้องมีการควบคุมการขอใบอนุญาต ร้านค้าที่จะจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้น จะต้องติดใบอนุญาตให้เห็นชัดเจนที่หน้าร้าน และสามารถยกเลิกได้หากร้านนั้นทำผิดกฎหมาย ส่วนมาตรการต่างๆที่ออกมาต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการขายเหล้าให้กับเด็ก ซึ่งอาจจะต้องมีการเชือดไก่ให้ลิงดูบ้าง  และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในพื้นที่ จะต้องเอาจริง และลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ และบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลิกเห็นประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นในสังคม ที่มีต้นเหตุมาจากน้ำเมา!!!!