ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผย 6 ปี ความพึงพอใจประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมผลสำรวจล่าสุด ปี 2556 พุ่งสูงถึงร้อยละ 95.49 สุงสุดตั้งแต่สำรวจในช่วง 10 ปี สะท้อนการยอมรับและความถึงพอใจต่อการเข้ารับบริการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมเตรียมเดินหน้าปรับปรุงระบบสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนยิ่งขึ้น 

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภารกิจของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งถือเป็นภาระกิจสำคัญ และหลังจากที่ สปสช.ดำเนินการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี 2545 ได้มีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง พบว่าในปี 2556 ประชาชนมีความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา นับจากที่เคยมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2546 โดยเฉพาะในช่วงปี 2551-2554 เป็นที่ระดับความพึงพอใจของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ปี จากร้อยละ 88.37 เพิ่มเป็นร้อยละ 89.32 , 89.76 และ 92.75 (ตามลำดับปี 2551-2554) จนกระทั่งในปี 2556 ระดับความพึ่งพอใจได้ขึ้นมาอยู่ที่ 95.49 ซึ่งเป็นผลสำรวจที่มีอัตราความพึงพอใจสูงสุดเท่าที่มีการสำรวจมา

นพ.จรัล กล่าวต่อว่า สำหรับการสำรวจ ในปี 2556 นี้ จากที่ทาง สปสช. ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน หรือ เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนและผู้ให้บริการ ต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2556” ซึ่งได้ทำการสำรวจความเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปี ขึ้นไป ที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จาก 13 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 2,730 คน แยกเป็นกลุ่มตัวอย่างภาคเหนือ 524 คน ภาคกลาง 612 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 956 คน ภาคใต้ 425 คน และกรุงเทพมหานคร 213 คน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ความพึงพอใจต่อการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน เฉพาะผู้ที่เคยเข้ารับบริการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในปี 2556 นี้ สูงถึงร้อยละ 95.49 นับเป็นผลสำรวจที่ประชาชนมีความพึงพอใจมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  

นพ.จรัล กล่าวว่า เมื่อแยกดูผลสำรวจความพึงพอใจ พบว่า ร้อยละ 56.6 มีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 38.9 ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 3.8 เฉยๆ ร้อยละ 0.2 ไม่ค่อยพอใจ และร้อยละ 0.5 ไม่พึงพอใจเลย ขณะที่การสำรวจความพึงพอใจเมื่อแยกตามกลุ่มอายุพบว่า มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 50-59 ปี และพบว่าเมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่ากลุ่มผู้ว่างงาน พ่อบ้านและแม่บ้านจะมีความพึงพอใจมากกว่าผู้รับบริการในอาชีพอื่นๆ และเมื่อแยกผลสำรวจความพึงพอใจรายภาคพบว่า ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร

นพ.จรัล กล่าวต่อว่า เมื่อสำรวจถึงการประสบปัญหาการเข้ารับบริการสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า มีผู้ที่เคยประสบปัญหาจากการเข้ารับบริการร้อยละ 21.0 ขณะที่ร้อยละ 79 ไม่เคยประสบปัญหารับในการเข้ารับบริการเลย และเมื่อถามถึงความตั้งใจที่จะไปรับบริการสถานพยาบาลในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในครั้งต่อไป ปรากฎว่า ร้อยละ 97.6 มีความตั้งใจจะไปใช้บริการอีก มีเพียงแค่ร้อยละ 2.4 เท่านั้นที่ไม่ต้องการไปใช้บริการ นอกจากนี้เมื่อถามถึงการรับรู้สิทธิรักษาพยาบาล ร้อยละ 70.6 รับรู้ว่าคนไทยที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลในสิทธิอื่น จะเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีร้อยละ 29.4 ที่ยังไม่ทราบ และเมื่อถามถึงความเข้าใจลักษณะของสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า มีเพียงร้อยละ 29.8 ที่รู้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย ส่วนที่เหลือร้อยละ 70.2 เข้าใจว่าเป็นโครงการสงเคราะห์

“ผลการสำรวจความเห็นประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังคงยอมรับและนิยมรับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลสำรวจความพึงพอใจการเข้ารับสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้ารับบริการในระบบ รวมไปถึงความตั้งใจในการเข้ารับบริการครั้งต่อไปซึ่งมีอัตราส่วนความพึงพอใจในระดับที่ดี”

นพ.จรัล กล่าวต่อว่า แม้ว่าผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีนี้จะสูงถึงร้อยละ 95.49 แต่ยังมีในหลายประเด็นที่ สปสช.ต้องปรับปรุงเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของประชาชนให้มากขึ้น ไม่ว่าการปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาล ความเสมอภาคการเข้ารับบริการให้เทียบเท่ากับสิทธิรักษาพยาบาลอื่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเด็นซึ่งเข้าใจที่ว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบการสงเคราะห์ ซึ่งสูงถึงร้อยละ 70.2 เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถือเป็นสิทธิที่ประชาชนได้รับตามกฎหมาย ซึ่งในประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป