ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พนง.มหา’ลัย เข้าพบสปสช. หารือแนวทางตั้งกองทุนค่ารักษาพยาบาล ใช้โมเดลเหมือนกับอปท. เผยถ้าตั้งเป็นกองทุนรัฐจ่ายเงินถูกกว่าเข้าประกันสังคม จากเดือนละ 1,800 บาท ตกเดือนละ 1,000 บ. 

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์

เวบไซต์มติชนออนไลน์ รายงานว่า 20 เม.ย. รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า  สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าหารือกับนพ. วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในการผลักดันโมเดลกองทุนรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัย โดยจากการหารือมีความเห็นตรงกันว่ามีความเป็นไปได้ในการตั้งกองทุนรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัย กว่า 131,692  คนทั่วประเทศ โดยอาศัย พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ   พ.ศ. 2545 มาตรา 9 ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีอำนาจ สามารถบริหารจัดการให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการได้รับบริการสาธารณสุขได้แล้วแต่กรณี  โดยอาจกำหนดในรูปของการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา  ซึ่งจะคล้ายกับกรณีของกองทุนรักษาพยาบาลของ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)  

“หลังจากสปสช.สนับสนุน ขณะนี้เหลือเพียงความชัดเจนทางกฎหมายว่า พนักงานมหาวิทยาลัย อยู่ในข้องดเว้นตามพ.ร.บ.ประกันสังคม  พ.ศ. 2533 มาตรา  4 หรือไม่ ซึ่งระบุ ว่า พ.ร.บ.ประกันสังคมไม่ใช้บังคับแก่ข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน  และลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของราชการส่วนกลาง  ราชการส่วนภูมิภาค  และราชการส่วนท้องถิ่น  ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน เรื่องนี้ต้องพิจารณาอีกครั้ง” รศ. วีรชัย กล่าวและว่า  อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งจะนำเรื่องนี้เสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง เพื่อผลักดันให้จัดทำเป็นบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู(MOU) ระหว่างหน่วยงานเหมือนโมเดลของ อปท. ที่เคยประสบผลสำเร็จมาก่อนหน้านี้

รศ.วีรชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพนักงานมหาวิทยาลัยถูกผลักเข้าไปใช้ระบบประกันสังคม  ด้วยมีช่องว่างกฎหมายที่ยังไม่ได้ระบุชัดเจน ทั้งที่พนักงานมหาวิทยาลัยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 4 และเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัย ถูกระบุในมติ ครม. ปี 2542 ให้ได้รับเงินเดือนสูง 1.7 เท่าของฐานเงินเดือนราชการปกติ และเป็นเงินเดือนที่รัฐจัดสรรมาให้ ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมต่อหัวเดือนละ 1,800 บาท หากเทียบรับสวัสดิการเดิมของราชการคือ รัฐต้องจ่ายต่อหัวเพียงเดือนละ 1,000 บาท ทำให้ สปสช.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการจัดสวัสดิการสุขภาพของรัฐ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีความมั่นใจว่า ด้วยตัวเลขขนาดนี้ สามารถจัดระบบสวัสดิการให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยได้เหมือนระบบราชการเดิมแน่นอน แต่ในเบื้องต้นอาจเป็นสิทธิเฉพาะตัวไปก่อน