ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เหลืออีกไม่กี่วันก็จะเวียนมาถึงวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งเป็นวันกรรมกรสากล หรือ วันแรงงานแห่งชาติ ของทุกปี 

วันดังกล่าวถือเป็นวันหยุดของลูกจ้าง และเป็นธรรมเนียมที่ขบวนการแรงงานจะเดินขบวนแสดงพลังเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้แก้ปัญหาสำคัญๆของเหล่ากรรมาชีพ ซึ่งในเมืองไทยจะมีแรงงาน 2 กลุ่ม แยกกันจัดงานของตัวเอง

กลุ่มแรก คือ กลุ่มสภาองค์การลูกจ้าง ซึ่งประกอบจากสหพันธ์แรงงานต่างๆ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสภา ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2543 ปกติสภาองค์การลูกจ้างเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงานในการจัดกิจกรรม โดยปีนี้มีสภาองค์การลูกจ้าง 14 สภา จะเดินขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยื่นข้อเสนอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีที่ท้องสนามหลวง 

สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2557 ของกลุ่มสภาองค์การลูกจ้าง มีทั้งหมด 12 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างเร่งด่วน 2.เร่งดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงาน เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว 

3.ตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการ เลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน 4.ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชย ของลูกจ้างภาคเอกชนและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของลูกจ้าง 

5.เร่งแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2550 ในมาตรา 9 วรรค 5 เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อพนักงานรัฐวิสาหกิจในแนวทางเดียวกับข้าราชการพลเรือน 6.ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ และยุตินโยบายการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบเลิกรัฐวิสาหกิจ 

7.เร่งตรา พ.ร.ฎ.สถาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้กับสถาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และประกาศยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน

8.ปฏิรูประบบประกันสังคม  โดยมีรายละเอียดคือ 8.1 แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 มาตรา 39 กรณีการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนควรจ่ายเพียงเท่าเดียว 8.2 นิรโทษกรรมให้กับผู้ประกันตน มาตรา 39 กลับมาเป็นผู้ประกันตนได้ 8.3 ให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกันตน มาตรา 40 ในอัตรา 50% ทุกกรณี 8.4 แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 มาตรา 33 โดยให้ขยายสิทธิผู้รับงานไปทำที่บ้าน เข้าเป็นผู้ประกันตนใน มาตรา 33 ได้ โดยให้ถือว่าผู้ว่าจ้างเป็นนายจ้าง 8.5 ให้รัฐบาลยกระดับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นองค์กรอิสระ 8.6 ให้ สปส.จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมต้นแบบเป็นของตนเอง 

9.จัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบกิจการ หรือใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม โดยให้สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 10.ตรา พ.ร.ฎ.การจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตามบทบัญญัติว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์ในหมวด 13 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 (มาตรา 163) 

11.ให้รัฐบาลยกสถานะสำนักความปลอดภัยแรงงานเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน 12.ให้รัฐบาลประกาศรับรองคณะทำงานติดตามและประสานงานข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2557

ขณะเดียวกัน ก็มีแรงงานอีกกลุ่ม คือกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งประกอบด้วยสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงานต่างๆ แต่ไม่ได้รวมตัวจัดตั้งเป็นสภาองค์การลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2543 และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ขบวนการแรงงานกลุ่มนี้จะแยกไปจัดกิจกรรมวันแรงงานของตัวเองต่างหาก ซึ่งจะจัดกิจกรรมทุกปีที่บริเวณถนนอู่ทองใน หน้ารัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้แรงงานกลุ่มนี้จะไม่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลรักษาการเพราะขาดความชอบธรรม และไม่มีความจริงใจในการบริหารประเทศ แต่จะยื่นเสนอให้สาธารณะแทน 

สำหรับข้อเสนอของ คสรท. และ สรส. มีทั้งหมด 13 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการรวมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

2.รัฐต้องยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน กรณีผู้นําสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คนและแรงงานในภาคเอกชนเป็นจํานวนมาก ซึ่งขัดต่ออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 

3.รัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการสังคม มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ค่าบริการสาธารณูปโภคลดค่าครองชีพ สร้างหลักประกันในการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข การบริการสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมทางสังคม 4.ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน และยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ โดยขาดความเป็นธรรมและขาดธรรมาภิบาล

5. รัฐและรัฐสภาต้องเร่งรัดการปฏิรูประบบประกันสังคม ประกันสุขภาพคนทํางานถ้วนหน้า โครงสร้างการบริหารงานเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม 6.งดนําเข้าและยกเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน ไคลโซไทล์ทันทีตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่12 เมษายน 2554

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อเสนอวันแรงงานปี 2556 ที่ผ่านมาที่ต้องติดตามให้เกิดผลอีก 7 ข้อ ประกอบด้วย 1. รัฐต้องกําหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกําหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการของ ILO 

ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคํานึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน รวมทั้งทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไปจนถึงปี 2558

2.แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ให้ผู้ใช้แรงงานที่ทํางานในเขตพื้นที่สถานประกอบการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

3.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 4.จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานควรมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดําเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้

5.สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือสถานที่ทํางาน 6.เร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ 7.รัฐต้องยกเว้นภาษี กรณีเงินก้อนสุดท้ายของคนงานผู้เกษียณอายุ

ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อเรียกร้องวันแรงงานของทั้ง 2 กลุ่ม จะพบว่ามีทั้งข้อที่คล้ายกันและแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ที่ต่างกันแน่ๆคือ จิตวิญญาณการจัดกิจกรรมวันแรงงาน ที่กลุ่มหนึ่งจัดเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของแรงงานในการต่อสู้กับนายทุน ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งถูกทอนวิญญาณการต่อสู้ออกไปให้กลายเป็นเพียงพิธีกรรมประจำปีเท่านั้น

เกร็ดประวัติวันแรงงานแห่งชาติ

วันกรรมกรสากลครั้งแรกคือวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890 ซึ่งเป็นวันที่ขบวนการกรรมกรในแคนาดา อเมริกา และประเทศต่าง ๆ ในยุโรปพร้อมใจกันชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องเพื่อให้มีการลดชั่วโมงทำงานเหลือ 8 ชั่วโมง มีการนัดหยุดงานในแทบทุกกิจการอุตสาหกรรมทั่วโลก จนทำให้ให้รัฐบาลของประเทศต่างๆยอมรับและออกกฎหมายประกาศใช้ระบบ 3 แปด คือ ทำงานละ 8 ชั่วโมง พักผ่อนวันละ 8 ชั่วโมงและศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกจึงกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม 1890 เป็นวันกรรมกรสากล

วันกรรมกรสากลในไทย ถูกจัดครั้งแรกวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ที่สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์ และจัดอีกครั้งในปี 2590 ที่ท้องสนามหลวง จากนั้นมีการรัฐประหารยึดอำนาจเกิดขึ้น รัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ห้ามจัดงานวันกรรมกรสากลอีก 

จนกระทั่งในปี 2499 องค์กรกรรมกร 16 หน่วย ได้เคลื่อนไหวให้มีการจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นอีกครั้ง ซึ่งตอนแรกรัฐบาลไม่ยอมให้จัดเพราะเห็นว่าจะเป็นการสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ กระทั่งเกิดการเจรจาระหว่างตัวแทนแรงงานกับกับพลตำรวจเอกเผ่า  ศรียานนท์ ตัวแทนรัฐบาลในขณะนั้น เมื่อวันที่ 27  เมษายน 2499 โดยรัฐมีเงื่อนไขจะยอมให้จัดงานแต่ให้เปลี่ยนชื่อ วันกรรมกรสากล เป็น วันแรงงานแห่งชาติ แทน

การเปลี่ยนชื่อจากวันกรรมกรสากล เป็นวันแรงงานแห่งชาติ  เป็นการตัดประวัติศาสตร์กรรมกรไทยและกรรมกรสากลมิให้เชื่อมถึงกัน หลังจากนั้นรัฐพยายามแบ่งแยกและแทรกแซงการทำงานของกรรมกรเสมอมา จนมาถึงปัจจุบัน เนื้อหาและรูปแบบของการจัดงาน กลายเป็นเน้นไปที่เรื่องบันเทิงสนุกสนาน ไม่มีการสะท้อนปัญหา จิตวิญญาณและวัฒนธรรมการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานแต่อย่างใด