ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคมาลาเรียในไทยแนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่พบในจังหวัดพื้นที่ติดชายแดน ในปี 2556 พบ 41,596 กว่าราย เสียชีวิต 47 ราย ปัญหาน่าห่วงของไทยขณะนี้พบเชื้อชนิดฟัลซิพารั่มดื้อยารักษาสูตรผสมอนุพันธ์อาร์ติมิซินินมากขึ้น พบตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา และมีแนวโน้มแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นจัดโครงการนำร่องยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียที่ดื้อยา โดยการค้นหา รักษา ติดตามผู้ป่วย รวมถึงการวิจัยต่างๆดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2556-2559 ในพื้นที่ 27 จังหวัดที่อยู่ชายแดนไทย กัมพูชา เมียนมาร์ และมาเลเซีย ได้รับงบสนับสนุนจากกองทุนโลกกว่า 600 ล้านบาท

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 25 เมษายนของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันมาลาเรียโลก เพื่อรณรงค์ให้ทุกประเทศเร่งขจัดปัญหาโรคมาลาเรียให้หมดไปจากพื้นที่ องค์การอนามัยโลกระบุว่าในปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยมาลาเรียใน 97 ประเทศ ประมาณ 207 ล้านคน เสียชีวิต 6 แสนกว่าคน ร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิต ส่วนมากอยู่ทวีปแอฟริกา ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในปี 2557 นี้กำหนดคำขวัญรณรงค์ว่า “ร่วมลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใส ร่วมใจเอาชนะมาลาเรีย ” (Invest in the Future : Defeat Malaria) โดยประเทศไทย ได้จัดรณรงค์ในพื้นที่ต่างๆ เน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจโรค สาเหตุการเกิด และการป้องกัน ประเด็นสำคัญที่สุดคือการรับประทานยารักษาให้ครบสูตร เพื่อป้องกันมาลาเรียดื้อยา

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียของไทยมีแนวโน้มลดลง สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงรายงานปี 2556 พบผู้ป่วย 41,596 ราย เสียชีวิต 47 ราย ร้อยละ 90 พบในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย ในปีงบประมาณ 2557 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 -19 เมษายน 2557 พบผู้ป่วยมาลาเรียแล้ว 11,712 ราย เป็นชาวไทย 8,246 ราย ที่เหลือเป็นต่างชาติ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ผู้ป่วยลดลงร้อยละ 40

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า โรคมาลาเรียเกิดจากยุงก้นปล่อง โดยทั่วไปมี 4 ชนิด คือไวแวกซ์ ฟัลซิพารั่ม โอวาเล่ และมาลาเรียอี เชื้อที่พบในไทยมากที่สุดในปี 2556 คือไวแวกซ์ร้อยละ 52 รองลงมาคือชนิดฟัลซิพารั่มร้อยละ 48 ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาสูตรยารักษาผู้ป่วยจากเชื้อแต่ละตัวเพื่อให้หายขาด ปรากฏว่า ยาที่ใช้รักษาเชื้อไวแว็กซขณะนี้ได้ผลดีมาก แต่เชื้อชนิดฟัลซิพารั่ม รายงานผลการเฝ้าระวังพบว่าดื้อยาสูตรยาเดี่ยวตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ที่บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา พบประมาณร้อยละ 3 สาเหตุหลักจากผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่อง ได้แก้ไขโดยพัฒนาสูตรการรักษาเป็นยาผสม 2 ตัวคือยาอาร์ติซูเนตกับเมฟโฟลควิน พบว่าได้ผลดีเป็นบางพื้นที่และมีแนวโน้มการดื้อยากระจายไปยังชายแดนไทย – เมียนมาร์ และพื้นที่อื่นๆ จากการเคลื่อนย้ายแรงงาน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยจัดโครงการยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยาผสมอนุพันธุ์อาร์ติมิซินิน เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2544-2559 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 ดำเนินการในพื้นที่ 43 จังหวัด พ.ศ. 2554-2555 ดำเนินการครอบคลุมหมู่บ้านแพร่เชื้อมาลาเรีย 2,578 หมู่บ้าน

ในระยะที่ 2 ช่วง พ.ศ.2556-2559 ดำเนินการในพื้นที่เสี่ยง 27 จังหวัดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ชายแดนไทย-เมียนมาร์ และชายแดนไทย-มาเลเซียที่มีการดื้อยา ได้แก่ ชลบุรี สระแก้ว ระยอง ตราด จันทบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พังงา สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง สงขลา ยะลา นราธิวาส มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และสกลนคร โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกรวม 3 ปี จำนวน 647 ล้านกว่าบาท

ด้านนายแพทย์โสภณ เฆมธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการควบคุมปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยาในระยะที่ 2 นี้ จะดำเนินการในหมู่บ้านใน 27 จังหวัดรวม 2,876 หมู่บ้าน โดยจะตรวจเลือดค้นหาเชื้อมาลาเรียในประชาชนไทยและต่างด้าว หากตรวจพบจะทำการรักษาฟรีทุกราย โดยตั้งคลินิกมาลาเรียในชุมชน 188 แห่ง และตั้งตามแนวชายแดนอีก 25 แห่ง เช่นที่จุดผ่านแดนถาวรหรือชั่วคราว อบรมพนักงานเพื่อตรวจรักษา ติดตามผู้ป่วยเพื่อกินยาให้ครบสูตร 3 วัน และติดตามต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยกินยาและหายขาดไม่กลับมาป่วยซ้ำอีก ภายใน 28 วันหลังรักษาครั้งแรก นอกจากนี้ จะมีการพ่นสารเคมีตามบ้านเรือนเพื่อฆ่ายุงก้นปล่องและแจกมุ้งชุบสารไพรีทรอย ฤทธิ์คงทนใช้ได้นาน 3 ปีและแจกซ้ำทุก 3 ปี แจกยาทากันยุง รวมทั้งการเผยแพร่คำแนะนำป้องกันโรคมาลาเรียเป็นภาษาท้องถิ่นหรือภาษาพม่า เป็นต้น โดยร่วมมือกับองค์เอกชนองค์กรนานาชาติอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ จะมีการศึกษาวิจัยปัญหามาลาเรีย ทั้งในด้านการตรวจค้นหาผู้ป่วยและการรักษา การวิจัยเพื่อการป้องกันปัญหาการกลับมาป่วยซ้ำของผู้ป่วยเชื้อมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ ในพื้นที่ที่มีปัญหาชุกชุม การวิจัยการรักษามาลาเรียในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะดำเนินงานที่จังหวัดตาก และการวิจัยวงจรชีวิตยุงก้นปล่องที่ชายแดนไทย –พม่า ทั้งพฤติกรรม นิสัย และการดื้อต่อสารเคมี ซึ่งจะทำให้การควบคุมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า วิธีป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงก้นปล่องกัด ขอแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยหรือผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง ควรเตรียมมุ้งหรือเต็นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุง นอนในมุ้งชุบสารเคมี และสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แนะนำให้ใช้สีอ่อน ๆ เพราะการใส่เสื้อผ้าสีดำ มักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก รวมทั้งจุดยากันยุง หรือทายากันยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ และหลังการกลับจากป่า หากมีอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน เบื่ออาหาร บางรายปวดศีรษะมากอาจปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา กระสับกระส่าย ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อรักษาและต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย โรคนี้มียารักษาหาย หากรักษาเร็วจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยขอให้กินยาหรือฉีดยาจนครบ เพื่อให้หายขาดและป้องกันเชื้อดื้อยา หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์กระทรวงสาธารณสุข โทร. 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-3333”