ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบายขายฝันของพรรคเพื่อไทยที่คุยโวว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานให้ดีขึ้นนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า "ไม่จริง" เพราะแค่ประกาศว่าจะขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็ขึ้นแบบก้าวกระโดดไปรอล่วงหน้าแล้ว และถ้าจำกันได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังเคยพูดด้วยซ้ำว่า "ของแพง...คิดไปเอง"

ปี 2556 ผ่านไปด้วยความกระท่อนกระแท่น เศรษฐกิจไทยเจอทั้งมรสุมเศรษฐกิจโลกและมรสุมการเมือง ไม่เห็นว่าคุณภาพชีวิตแรงงานไทยจะดีขึ้นตรงไหน ย่างเข้าปี 2557 ซึ่งใช้ค่าแรง300บาททั่วประเทศมาครบ 1 ปี สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ราย ระหว่างวันที่ 17-21 เม.ย.2557 พบว่า หนี้ต่อครัวเรือนของแรงงานไทยพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า แรงงานไทยกำลังเจอสถานการณ์แย่ที่สุดในรอบ 5-6 ปีจากปัญหาค่าครองชีพแพง 

จากการสำรวจพบว่ามีแรงงานถึง 93.7% ที่เป็นหนี้ เหลือเพียง 6.3% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้ โดยเป็นหนี้ต่อครัวเรือนเฉลี่ย 106,216 บาท ต้องผ่อนหนี้เฉลี่ยประมาณ 6,639 บาท/เดือน

ตัวเลขนี้สูงขึ้นจากปี 2556 ซึ่งมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ย 98,428 บาท ผ่อนเดือนละ 5,990 บาท

และหากซอยหนี้ 106,216 บาท/ครัวเรือนนี้ออกวิเคราะห์ พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ 56.1% มีภาระต้องจ่ายเดือนละ 7,412.70 บาท และเป็นหนี้ในระบบ 43.9% ภาระต้องจ่ายหนี้เดือนละ 5,456.90 บาท 

เงินกู้ส่วนใหญ่ 46.6% คือการนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมาคือผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัย 20.9% และหนี้ค่ายานพาหนะ13.2%

“ถือเป็นยอดหนี้ที่จะต้องจ่ายสูงสุดจากที่เคยสำรวจมาในรอบ 6 ปี นับจากปี 2552 สะท้อนให้เห็นว่า แรงงานไทยต้องแบกรับภาระหนี้มากกว่ารายได้ที่แท้จริง”ธนวรรธน์ กล่าว

ธนวรรธน์ ระบุด้วยว่า ปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายกำลังเป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งของแรงงานไทย  เพราะกว่า 74% บอกว่ามีสาเหตุจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้นและน้ำมันแพงขึ้น แต่รายได้ลดลง ที่สำคัญแรงงานไทยกว่า 90% ไม่มีอาชีพเสริมหรือการหารายได้พิเศษอื่นๆ และส่วนใหญ่มีปัญหาชำระหนี้ไม่ตรงเวลา กลายเป็นปัญหาที่น่าวิตกมาก

ในทางกลับกัน เมื่อถามถึงภาวะการออม พบว่าผู้ใช้แรงงานมีการออมเพียง 24% ถือเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2552 เช่นกัน

ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า สิ่งที่แรงงานต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล กว่า 90% เห็นตรงกันว่า ควรปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 388.25 บาท/วัน เพื่อสะท้อนถึงภาวะค่าครองชีพที่แท้จริง จากนั้นเพิ่มเป็น 498 บาท ใน 3 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็น 579 บาทในอีก 5 ปี เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้นั้นไม่เหมาะสมในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เพิ่มมากกว่าค่าจ้าง

ทั้งนี้ ผลการสำรวจภาวะหนี้ครัวเรือนของแรงงานย้อนหลัง ประกอบด้วย ปี 2552 อยู่ที่ 87,399 บาท เป็นหนี้นอกระบบ 48.51% และในระบบ 51.49% ส่วนปี 2553 อยู่ที่ 91,063 บาท เป็นหนี้นอกระบบ 48.12% ในระบบ 51.88%  ปี 2554 อยู่ที่ 87,641 บาท เป็นหนี้นอกระบบ 46.7% ในระบบ 53.3%  ปี 2555 อยู่ที่ 91,710 บาท เป็นหนี้นอกระบบ 47.7% ในระบบ 52.3% และ ปี 2556 อยู่ที่ 98,428 บาท เป็นหนี้นอกระบบ 51.9% และในระบบ 48.1% 

ธนวรรธน์ ยังระบุด้วยว่า วันหยุดแรงงาน 1 พ.ค.2557 คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม 1,965 ล้านบาท ขยายตัว 2.3% ต่ำสุดในรอบ 6 ปีเช่นกัน เพราะแรงงานยังวิตกในเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว ของแพง และปัญหาการเมือง อีกทั้งยังเห็นว่าโอกาสในการหางานใหม่ยากขึ้นด้วย 

“ส่วนผลการสำรวจภาคธุรกิจ พบว่า จะยังไม่มีการจ้างงานใหม่แต่ไม่ถึงขั้นปรับลดแรงงานลง แต่หากการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพและเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องลดแรงงานลงในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้  ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นจริง ก็จะทำให้อัตราว่างงานมีโอกาสเพิ่มขึ้น 1.5-1.7% หรือประมาณ 6 แสนคน มากสุดในรอบ 10 ปี  จากเดิมที่คาดว่าจะว่างงานเพิ่มขึ้น 0.7% หรือ 4 แสนคน โดยตัวเลขนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพียง 0-2%” ธนวรรธน์ กล่าว