ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงหน้าร้อนกินน้ำแข็งไม่สะอาดอาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและอหิวาตกโรคได้ แนะประชาชนเลือกบริโภคน้ำแข็งที่ผ่าน GMP ปลอดภัยชัวร์ ย้ำผู้ผลิตให้ควบคุมขั้นตอนการผลิต รวมถึงผู้จำหน่ายห้ามแช่สิ่งของอื่น ๆ ในน้ำแข็งสำหรับจำหน่าย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงหน้าร้อนเครื่องดื่มและของหวานคลายร้อนจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่น น้ำแข็งไส หวานเย็น ขนมปังเย็น น้ำผลไม้ปั่น รวมทั้งเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำแข็งหลายชนิด ได้แก่ น้ำแข็งหลอด น้ำแข็งสี่เหลี่ยม น้ำแข็งถ้วยเล็ก น้ำแข็งถ้วยใหญ่ น้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งโม่หรือน้ำแข็งป่น ที่หากมีกระบวนการผลิต จำหน่ายที่ไม่สะอาดได้มาตรฐานอาจเสี่ยงทำให้ได้รับเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนอาจนำไปสู่การเกิดโรคอุจจาระร่วงที่พบมากในกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2557 มีผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง จำนวน 14,000 ราย จาก 66 จังหวัด ไม่พบผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคืออายุ 1 ปี รองลงมาคือ อายุมากกว่า 65 ปี พบอัตราป่วยสูงสุดในภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับสถานการณ์โรคอหิวาตกโรคในปี 2555 พบว่า มีผู้ป่วยจำนวน 29 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยสูงสุดในภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคใต้ และภาคกลาง

"ทั้งนี้ การควบคุมมาตรการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) เรื่องน้ำแข็ง ให้ผู้ผลิตน้ำแข็งนำน้ำที่สะอาดผ่านกระบวนการปรับปรุงน้ำดิบให้มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำบริโภคมาผลิตเป็นน้ำแข็งต้องไม่มีสี กลิ่น ความขุ่น ค่าความเป็นกรดด่างรวมทั้งค่าทางเคมีต้องได้มาตรฐาน ส่วนผู้จำหน่ายน้ำแข็งต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัย โดยเฉพาะการเก็บรักษาความเย็นและภาชนะสำหรับบรรจุน้ำแข็ง ห้ามใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ ในการห่อหรือปกคลุมน้ำแข็งเด็ดขาด สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายหรือที่จำหน่ายน้ำแข็งต้องสะอาดและมีระดับสูงกว่าทางเดิน ง่ายต่อการทำความและไม่มีสิ่งปนเปื้อนในน้ำแข็ง ภาชนะบรรจุที่ใช้บรรจุน้ำแข็งต้องสะอาดไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค โดยการน้ำแข็งที่แบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายต้องมีภาชนะปกปิดมิดชิด”

สำหรับร้านอาหารต้องเก็บน้ำแข็งในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ภาชนะต้องไม่เป็นสนิม สามารถเก็บความเย็นได้ดี ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มมาแช่ในน้ำแข็งที่ใช้บริโภคโดยเด็ดขาด หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในพลาสติกที่เป็นแผ่นหรือถุงจะต้องไม่มีสีหรือไม่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้ว สำหรับผู้บริโภคควรเลือกบริโภคน้ำแข็งที่มีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ และเมื่อน้ำแข็งละลายจะต้องใส ไม่มีตะกอนขาวขุ่นๆ อยู่ก้นแก้ว