ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. เผยสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในไทยปีนี้ เชื้อเป็นสายพันธุ์เดิม แต่รุนแรงขึ้น จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2556 ถึงร้อยละ 36 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2557 ทั่วประเทศป่วย 30,024 ราย เสียชีวิต 50 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่นอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว เร่งลดการเสียชีวิต โดยกำชับให้แพทย์ พยาบาล เพิ่มซักประวัติผู้ป่วยไข้หวัดทุกราย หากพบว่าป่วยมาแล้ว 2 วันไม่ดีขึ้น ให้รีบให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที โดยไม่ต้องรอผลแล็บ

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การเจ็บป่วยของประชาชนจากโรคไข้หวัดใหญ่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่าในปีนี้ประชาชนป่วยจากโรคนี้มากขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2557 จนถึงวันที่ 25 เมษายน สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากทั่วประเทศป่วย 30,024 ราย จำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2556 ถึงร้อยละ 36 ผู้เสียชีวิต 50 ราย ขณะที่ตลอดปี 2556 ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย คณะผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ว่า เชื้อที่เป็นสาเหตุการป่วยส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นเชื้อตัวล่าสุดที่พบระบาดทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วยในปี 2552 จัดเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสายพันธุ์อื่นๆ ที่เกิดในช่วงเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่ยังมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนี้น้อย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบผู้ป่วยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สายพันธุ์นี้ไม่เคยระบาดมาก่อน โดยแนวโน้มในสัปดาห์นี้ชะลอตัว ผู้ป่วยเริ่มน้อยลงจากสัปดาห์ละประมาณ 2,000 รายเหลือ 500 กว่าราย แต่คาดว่าจะเริ่มระบาดระลอก2 มากขึ้นในช่วงฤดูฝน และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยตลอดปีจะมากกว่าในปี 2556

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการจัดบริการดูแลประชาชนที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ได้เน้น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.ให้โรงพยาบาลทุกแห่งและให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลภาครัฐในพื้นที่ ให้ดำเนินการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการป่วยไข้หวัดทุกชนิดที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ที่ไปตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก หากมีจำนวนมากขึ้นกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนผู้ป่วยนอกทั้งหมด ให้จัดช่องทางบริการพิเศษเป็นการเฉพาะ ไม่ให้ปะปนกับผู้ป่วยอื่นๆ ให้ผู้ป่วยทุกรายใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ และจัดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตั้งประจำจุดต่างๆ เช่นที่แผนกผู้ป่วยนอก หอผู้ป่วย หน้าลิฟต์ เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ล้างฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือหลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ

2.กำชับแพทย์ที่ตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งพยาบาล ขอให้เพิ่มการซักประวัติผู้ป่วยที่มาด้วยอาการหวัด ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูก ปวดเมื่อย อาเจียน ท้องเสีย หากมีประวัติหลังป่วย 2 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ให้นึกถึงโรคไข้หวัดใหญ่ รับตัวไว้นอนรักษาในโรงพยาบาล และให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เนื่องจากพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตปีนี้ 50 ราย ร้อยละ 40 เป็นผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จึงต้องเริ่มให้ยาต้านไวรัสให้เร็ว ซึ่งจะให้ผลดีหากให้ยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการป่วย แม้ว่าจะไม่พบความผิดปกติในปอดชัดเจนหรือไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่เป็นการเฉพาะ 1 ชุด เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้แก่แพทย์ทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง และ3.การฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงซึ่งจะมีการแถลงรายละเอียดในเช้าวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2557

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั่วโลกพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงปีละ 3-5 ล้านราย เสียชีวิตประมาณ 2-5 แสนราย จากการติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ต่างประเทศขณะนี้ เช่นที่สหรัฐอเมริกา พบผู้เสียชีวิต 85 ราย ไวรัสเป็นกลุ่มเดียวกับที่พบในไทย คือกลุ่มเอและบี ในประเทศไทยจะพบการระบาดในหน้าฤดูฝนและหน้าหนาว ติดต่อกันง่ายทางการไอจาม อาการคือมีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เมื่อป่วยแล้วต้องใส่หน้ากากอนามัย ป้องกันเชื้อแพร่สู่คนอื่น หยุดเรียนหยุดทำงาน ควรนอนพักผ่อน อาการจะค่อยๆดีขึ้นเอง หากไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรพบแพทย์โดยเร็ว

ในการป้องกันโรคขอให้ประชาชนหมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติ เพิ่มการรับประทานผักผลไม้สดเพื่อเพิ่มวิตามินซีช่วยป้องกันโรค หมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ให้ติดเป็นนิสัย เพราะการล้างมือจะกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับมือได้ถึงร้อยละ 80 ไม่ใช้เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่นผ้าเช็ดตัว หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย