ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข คงมาตรการเข้มข้นป้องกันเชื้อไวรัสเมอร์ส - โควี โดยเน้นระบบการเฝ้าระวัง 2 กลุ่มเสี่ยงคือประชาชนที่เดินทางไปหรือมาจากตะวันออกกลางและมีอาการป่วย เช่นปอดบวม และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เผยผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยปอดบวมหลังกลับจากตะวันออกกลาง 10 ราย ไม่พบติดเชื้อแต่อย่างใด สถานการณ์ทั่วโลกตั้งแต่กันยายน 2555 - 24เมษายน 2557 มีรายงานผู้ป่วยใน 14 ประเทศ รวม 254 ราย เสียชีวิต 93 ราย โดยจะประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภาคใต้ย้ำมาตรการป้องกันในวันที่ 30 เมษายน 2557 และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวดการป้องกันโรคติดเชื้อ และการแพร่กระจ่ายเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานสากล 

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้ามาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือเมอร์ส โควี(MERS-CoV) ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามเฝ้าระวังอาการในกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลางและมีอาการป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ล่าสุดนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง 10 ราย จาก 4 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 10 ราย ไม่พบเชื้อเมอร์ส โควีแต่อย่างใด

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ที่เดินทางไปตะวันออกกลาง โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญอุมเราะห์ ซึ่งในวันที่ 30 เมษายนนี้จะประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคใต้ เนื่องจากมีชาวไทยมุสลิมไปแสวงบุญในประเทศตะวันออกกลางจำนวนมาก เพื่อเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคนี้ โดยให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคแก่ประชาชน และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนกลุ่มนี้ด้วย ขณะเดียวกันจะประสานขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชนและกทม. ซึ่งอาจมีผู้แสวงบุญหรือผู้ป่วยจากตะวันออกกลางเดินทางเข้ามารับการรักษา หากพบผู้ป่วยมีอาการป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ให้รายงานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อติดตามสอบสวนควบคุมโรค

สถานการณ์โรคล่าสุด องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2555-24 เมษายน พ.ศ.2557 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี รวมทั้งสิ้น 254 ราย เสียชีวิต 93 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 36.6 มีรายงานใน 14 ประเทศ ประกอบด้วย ภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน คูเวต โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ภูมิภาคยุโรปได้แก่ฝรั่งเศส เยอรมัน กรีซ อิตาลี อังกฤษ ภูมิภาคแอฟริกา ได้แก่ ตูนีเซีย และภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อไวรัสเมอร์ส - โควี มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่เดินทางไปตะวันออกกลาง เช่น นักธุรกิจ ผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวหรือประกอบศาสนกิจ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ออกคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถานทูต กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และจัดทำเอกสารให้คำแนะนำแก่ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลาง ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และจัดระบบติดตามเฝ้าระวังกลุ่มที่เดินทางกลับจากประเทศแถบตะวันออกกลางภายใน 14 วัน หากมีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ เช่นปอดบวม จะได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสเมอร์ส - โควีทุกราย จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสนี้แต่อย่างใด

ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อชนิดนี้ คือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวดมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อและการแพร่กระจ่ายเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานสากล 

สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร จำนวน 3 ราย ทุกรายอายุมากกว่า 60 ปี ส่งต่อจากรพ.รัฐ 1 ราย และรพ.เอกชน 2 ราย มีอาการเข้าข่ายเฝ้าระวังคือปอดอักเสบภายหลังกลับมาจากการประกอบศาสนกิจที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยืนยันไม่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส-โควี โดย 1 รายพบติดเชื้อแบคทีเรีย และอีก 2 รายพบติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ และสายพันธุ์บี ทุกรายไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะนี้อาการดีขึ้น ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อดูแลสังเกตอาการต่อ 

ทางด้าน ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังโรคนี้มาตั้งแต่พ.ศ.2555 ตั้งแต่เริ่มพบโรคนี้ในประเทศตะวันออกกลาง โดยออกคำเตือนกลุ่มคนที่มีอาการป่วยและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ไม่ควรเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง หากจำเป็นต้องเดินทางให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนป่วย ไม่ควรไม่เข้าไปในฟาร์มสัตว์โดยเฉพาะอูฐ เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าแหล่งแพร่เชื้อนี้คืออูฐ สำหรับกรณีชาวมาเลเซียอายุ 54 ปีที่เสียชีวิตหลังกลับจากตะวันออกกลาง สันนิษฐานว่าอาจติดเชื้อจากการดื่มนมอูฐ ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเชื้อโรคจะออกทางน้ำนมอูฐที่เป็นโรคนี้หรือไม่ แต่มีการทดลองพบว่าเมื่อนำเชื้อเมอร์ส-โควีใส่ในนมอูฐ เชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญ ควรหลีกเลี่ยงไปฟาร์มสัตว์ หรือสัมผัสหรือขี่อูฐ เพราะยังไม่ทราบว่าการแพร่กระจายเชื้อจากจากอูฐที่ป่วยสู่คนได้อย่างไร นอกจากการสัมผัสใกล้ชิด

ส่วนบุคลากรในโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัด ปอดบวม และมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง ควรระมัดระวังตัว อย่าประมาท เพราะไม่ทราบแน่ชัดว่าการติดต่ออย่างไร การติดต่อจากคนสู่คนขณะนี้ทราบว่าเป็นไปได้ยาก แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าจะติดต่อง่ายขึ้นเมื่อใด และโรคนี้ยังไม่มียารักษาและไม่มีวัคซีนป้องกันเป็นการเฉพาะ ดังนั้นการป้องกันตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โดยในปี 2555 มี ผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย 10 กว่าราย ผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 5 รายไม่พบการติดเชื้อ   ปี 2556 ผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย 9 ราย และปี 2557 พบ 10 ราย ยังไม่พบการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังต่อไป