ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คมชัดลึก - ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ปัจจุบันการรับประทานยาในประเทศไทยยังมีความสุ่มเสี่ยงอยู่มาก เนื่องจากยาบางตัวมีผลกระทบ แต่ไม่มีการรวบรวมปัญหาอย่างเป็นระบบ ล่าสุด กพย.อยู่ระหว่างรวบรวมกรณีศึกษายาที่ไม่เหมาะสมทั่วประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือกับเภสัชกรประจำสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) รวมถึงโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โดยจะมีการศึกษายาที่ใช้ทั่วไป อย่างเช่น ยาพาราเซตามอลขนาด 325 มก. กำหนดให้รับประทานทุก 4-6 ชั่วโมง รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง ปัจจุบันมีการปรับเป็น 500 มก. การระบุก็ยังเช่นเดิม มีเพียงเด็กที่ระบุว่าให้รับประทานครั้งละครึ่งหรือ 1 เม็ด หากกินไปนานๆ ทำให้ทำลายตับได้

ขณะนี้ กพย.ร่วมกับเภสัชกรพื้นที่ต่างๆ รวบรวมกรณีผลที่เกิดขึ้นอยู่โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ ที่ไม่มีการควบคุมจริงจัง ทั้งๆที่ยาสเตียรอยด์น่ากลัวมาก ปะปนกับยาต่างๆ โดยเฉพาะปัจจุบันสื่อเข้าถึงง่าย ทั้งเคเบิล ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต มักจะอวดอ้างสรรพคุณว่ามียาลดอาการปวดบวม แก้ปัญหาข้อเข่าต่างๆ เหล่านี้ล้วนผสมยาสเตียรอยด์ทั้งสิ้น

"หากมีการรวบรวมผลกระทบจากการใช้ยา จะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากจะทำให้ทราบว่าประเทศไทยควรทบทวนยาตัวไหน หรือควรเพิ่มเติมคำเตือนอะไรบ้าง อย่างกรณีที่ อย.มีคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ ซึ่งเตรียมพิจารณาตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 50 ตำรับ แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นมีการประชุมพิจารณา" ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากมีทีมเฝ้าระวังพิจารณาตำรับยาต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งหากยากลุ่มไหนเสี่ยง หรือมีผลกระทบ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาฯ ทันที

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก  วันที่ 29 เมษายน 2557