ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมืออปสข.ภาคใต้เปิดเวทีปฏิรูปหลักประกันสุขภาพ สวนกระแสข่าวลือสธ.สั่งสสจ.ไม่ให้ร่วมกิจกรรมกับสปสช. เผยนพ.สสจ. และผอ.รพศ./รพท. เข้าร่วมน้อย แต่รพ.ชุมชนเข้าร่วมคึกคัก ด้านภาคประชาชนเปิดข้อมูล แม้คนไทยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่ภาคใต้ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะ โรคหัวใจ ตาต้อกระจก แม่วัยใส บำบัดยาเสพติด และสุขภาพฟัน แนะทิศทางปฏิรูปต้องเน้นลดเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพิ่มความเข้มแข็งอปสข. และเขตสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 ณ โรงแรมลีการ์เด้นท์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต(อปสข.) เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา วาระพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และระดมความเห็นการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพในบริบทพื้นที่ภาคใต้ โดยมีคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต(อปสข.) หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้ และภาคประชาชน กว่า 70 คน เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยก่อนการประชุมที่ประชุมได้ยืนไว้อาลัยให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบทางการเมือง ที่อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

นายชัยพร จันทร์หอม ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้นั้น ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน โดยมีอัตราการเข้าถึงต่ำกว่าประชาชนในภาคอื่นๆ แม้ว่าประชาชนไทยจะมีหลักประกันสุขภาพ คือ ไม่ต้องจ่ายเงินเมื่อไปรับการรักษาพยาบาล เป็นสิทธิที่รัฐดูแลให้ แต่พื้นที่ภาคใต้ก็ยังพบปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิรูปเพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาได้รับการรักษาตามที่จำเป็นทันที ดังนี้ 

1.ปัญหาการเข้าถึงบริการโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น กลุ่มโรคหัวใจและระบบหลอดเลือด 2.ปัญหายาเสพติดในพื้นที่โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 3.การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกำลังเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในขณะนี้ จึงต้องมีมาตรการเร่งด่วนให้วัยรุ่นสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้อย่างเหมาะสม และป้องกันการทำแท้งเถื่อนที่พบว่ามีอัตราสูงเช่นกันตามมา

4.ปัญหาตาต้อกระจก เขต 12 สงขลา มีอัตราการเข้าถึงต่ำมากในอันดับท้ายๆ ของประเทศมาตลอด อย่างไรก็ตาม 5.สุขภาพช่องปากของคนใต้ก็นับเป็นอีกปัญหาสำคัญ อัตราการมีฟันผุสูงกว่าเขตอื่นๆของประเทศ และพบการสูญเสียฟันสูงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่การได้รับการใส่ฟันปลอมในกลุ่มผู้สูงอายุนี้ยังค่อนข้างต่ำกว่าเป้าหมายมากพอสมควรในปีที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 70 เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ให้บริการได้เพียงประมาณร้อยละ 55 ของเป้าหมายเท่านั้น

“จากปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขดังกล่าว และจากที่กระทรวงสาธารณสุขมีกลไกปฏิรูปแบบเขตสุขภาพ และอปสข.ที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เชื่อว่าน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น ผ่านกลไกด้านการเงินการคลังที่สปสช.รับผิดชอบอยู่ ซึ่งอยากให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมมือเดินหน้าเพื่อให้ประชาชนในภาคใต้เข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น”นายชัยพร กล่าว

ด้านเลขาธิการสปสช.กล่าวว่า ปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ภาคใต้นั้น สปสช.ตระหนักดีว่ายังมีการเข้าถึงในระดับที่ต่ำ กลไกที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงได้ อปสข. ซึ่งเป็นกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อการออกแบบระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมกับท้องถิ่น แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อให้ อปสข.สามารถติดตามกำกับการเข้าถึงบริการของประชนในเขตรับผิดชอบให้ดียิ่งขึ้น สปสช.จะมีการจัดเวทีการปฏิรูปโดยเน้นกลไกอปสข. โดยสัญจรไปยังภาคอื่นๆ เพื่อรวบรวมข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ทำเป็นแผนการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปคือ การทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น

“สปสช.ยึดหลักการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากกระทรวงสาธารณสุขภายใต้เงื่อนไขที่เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยหลักการปฏิรูป คือ การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน และป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยเป็นเป้าหมายหลัก โดยใช้ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจและความเข้มแข็งอปสข.และเขตสุขภาพ การร่วมมือและบูรณาการกับทุกกองทุนสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การขยายและพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ และเชื่อมประสานการทำงานกับอปท.เพื่อการเข้าถึงบริการ และเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุ”นพ.วินัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวมีนายแพทย์สสจ.ในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมน้อยมาก ผอ.รพ.ชุมชนแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า เป็นเพราะมีคำสั่งจากปลัดสธ.ไม่ให้เข้าร่วมเวทีการประชุมของสปสช. ทั้งเวทีอปสข. และเวทีรับฟังความคิดเห็น ทำให้การประชุมวันนี้ขาด นพ.สสจ.และ ผอ.รพ.ศูนย์หลายคน แต่รพ.ชุมชนยังคงยืนยันเข้าร่วมเพราะมีวาระสำคัญเกี่ยวกับ รพ.และผู้ป่วย และไม่เห็นด้วยที่มีคำสั่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมประชุมจากผู้มีอำนาจ เพราะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ รพ.ขาดงบประมาณ