ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชาวซาอุดีอาระเบียกำลังหวาดผวาเชื้อไวรัส 'เมอร์ส' ระบาด สหรัฐฯ ยืนยัน พบผู้ป่วยชาวอเมริกันติดเชื้อไวรัส 'เมอร์ส' เป็นรายแรก ในรัฐอินเดียนา หลังเพิ่งเดินทางกลับจากซาอุดีอาระเบีย จากนั้นยังไปกรุงลอนดอน ต่อไปนครชิคาโก ก่อนจะนั่งรถบัสกลับรัฐอินเดียนา

เวบไซต์ไทยรัฐรายงานว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 3 พ.ค.ว่า มีชาวอเมริกันติดเชื้อโคโรนาไวรัส เมอร์ส เป็นรายแรก ที่รัฐอินเดียนา หลังเดินทางกลับจากประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 24 เม.ย. และอีกวัน 3 ต่อมา ได้ล้มป่วย ด้วยอาการหายใจลำบากติดขัด, ไอ และมีไข้ จึงรีบไปพบแพทย์

ปรากฏว่าต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลคอมมูนิตี้ส ที่เมืองมุนสเตอร์ รัฐอินเดียนา ในวันเดียวกันทันที โดยแพทย์ได้แยกผู้ป่วยรายนี้ออกจากคนไข้คนอื่นๆ และอาการป่วยของเขายังทรงตัว แม้ขณะนี้แพทย์จะต้องให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ แถลงว่า ผู้ป่วยชาวอเมริกันคนแรกในสหรัฐฯ ซึ่งติดเชื้อไวรัส "กลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง" หรือ เมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome: MERS) เป็นเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และเป็นผู้ชาย โดยเขาได้เดินทางไปให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพในประเทศซาอุดีอาระเบีย หลังจากนั้นได้เดินทางต่อไปยังกรุงลอนดอน และขึ้นเครื่องบินกลับมาสหรัฐฯ โดยไปลงที่นครชิคาโก และขึ้นรถบัสโดยสารมายังรัฐอินเดียนา

เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่ซาอุดีอาระเบีย สวมหน้ากากอนามัยป้องการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อในสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราความเสี่ยงของการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เมอร์ส สู่สาธารณะยังถือว่าต่ำมาก เนื่องจากจะไม่มีการติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ง่ายๆ กระนั้นก็ดี ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ ได้ร่วมกับกองสาธารณสุขของรัฐอินเดียนา ตรวจสอบการผู้ป่วยชาวอเมริกันรายนี้ ซึ่งได้รับผลยืนยันว่า เขาติดเชื้อไวรัสเมอร์สเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ชาวซาอุดีอาระเบียกำลังหวาดกลัวการระบาดของเชื้อไวรัสเมอร์สอย่างมาก เพราะมีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 100 ราย โดยภายในเดือน เม.ย. เพียงเดือนเดียว มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสเมอร์สในซาอุดีอาระเบียแล้วถึง 31 ราย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศทั้งหมด หลังจากมีการพบเชื้อตัวนี้ครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2555

นอกจากนั้น ด้านบรรดาผู้เชี่ยวชาญยังประสบปัญหาในการทำความเข้าใจไวรัสเมอร์ส ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน โดยมันถูกพิจารณาว่าเป็นไวรัสที่มีอัตราทำให้เสียชีวิตสูงกว่าไวรัส 'ซาร์ส' ซึ่งอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีอัตราการติดต่อของเชื้อต่ำกว่า

ที่มา: http://www.thairath.co.th