ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -องค์การอนามัยโลก (ฮู) เพิ่งเผยแพร่รายงานว่าด้วยสภาวะการระบาดของเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะที่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก พร้อมกับเตือนว่า สภาวะเช่นนี้จะส่งผลกระทบกับทุกๆ คน เพราะจะส่งผลให้เชื้อโรคที่เคยรักษาได้ง่ายๆ ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะเดิมได้อีกต่อไป ผลก็คือคนเราอาจตายง่ายๆด้วยอาการติดเชื้อดื้อยาเหล่านี้ระหว่างการผ่าตัดในโรงพยาบาล

กรณีตัวอย่างของการดื้อยาที่ส่งผลร้ายต่อทุกคนทยอยกันปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา งานศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ เจเนติกส์ ระบุว่า มีเชื้อทีบีหรือเชื้อวัณโรค สายพันธุ์รัสเซียที่นอกจากดื้อยาและแพร่ระบาดง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ปรากฏการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นในออสเตรเลีย เช่นเดียวกันกับในสหรัฐอเมริกา

ในรายงานของฮู ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจาก 114 ประเทศ เตือนว่า ในเวลานี้มีเชื้อแบคทีเรียซึ่งก่อให้เกิดโรคร้ายแรง 7 ชนิดกำลังดื้อยาและแพร่ระบาดอยู่ในระดับภูมิภาค หนึ่งในจำนวนนั้นคือ "เคลบซีลลา นิวมอนิเอ" แบคทีเรียที่ดื้อยา "คาร์บาพีเนม" ทั้งๆ ที่ยาปฏิชีวนะชนิดนี้เคยใช้ได้ผลมาก่อนหน้านี้ ที่น่าวิตกสำหรับฮูก็คือ แบคทีเรียดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลทั้งหลาย ตั้งแต่การติดเชื้อจนป่วยเป็นนิวมอเนีย เรื่อยไปจนถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเสียชีวิตมานักต่อนักแล้ว

ในทำนองเดียวกัน ฮู ยังพบว่า ยา "ฟลูโอโรควิโนโลน" ที่เคยใช้รักษาอาการติดเชื้อในท่อปัสสาวะได้ผล กลับใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปในผู้ป่วยกว่าครึ่งที่ล้มป่วยลงในหลายๆ ประเทศ นอกจากนั้น ยังพบการดื้อยา"เซฟาลอสปอรินส์" ซึ่งเคยใช้รักษาหนองใน (โกโนเรีย) โดยใช้ยาชนิดนี้ไม่ได้ผลอีกต่อไปทั้งในยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา และอเมริกาเหนือ

ที่น่าตกใจก็คือ จากสถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่า 3.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยวัณโรคใหม่ดื้อยาปฏิชีวนะหลายๆ ตัวพร้อมกัน นอกเหนือจากการดื้อยาปฏิชีวนะ "อาร์เตไมซินีน" ที่ปรากฏในรายงานจาก พม่า กัมพูชา ไทยและเวียดนาม แล้ว

เคอิจิ ฟูกูดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกด้านความมั่นคงสุขภาพ เตือนว่า หากปราศจากความร่วมมือประสานงานกันในหลายๆ ประเทศทั่วโลกอย่างเร่งด่วนแล้วละก็ โลกก็จะก้าวเข้าสู่ยุค หลังยาปฏิชีวนะ อย่างรวดเร็ว ช่วงเวลาดังกล่าวคือยุคที่ยาปฏิชีวนะเท่าที่เรามีอยู่จะไม่สามารถใช้รักษาเยียวยาอาการติดเชื้อใดๆ ได้อีก ซึ่งจะส่งผลให้ แม้อาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ก็สามารถคร่าชีวิตเราได้ในทันที

ข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก เสนอให้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการเฝ้าระวังการดื้อยาปฏิชีวนะขึ้นในระดับโลก นอกเหนือจากการจัดทำมาตรฐานการใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกแล้ว ยังเรียกร้องให้มีการให้การศึกษาต่อสาธารณะให้ระมัดระวังในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเหล่านั้นดื่อยา  ที่สามารถปฏิบัติได้ง่าย แต่ไม่ค่อยมีการตระหนักถึงความสำคัญมากมายนัก อย่างเช่น การใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งเท่านั้น การใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบโดสตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะเหลือใช้หรือร่วมกับผู้ป่วยราย อื่นๆ เป็นต้น

--มติชน ฉบับวันที่ 5 พ.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--