ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เร่งผลิตยาตำรับ'เบญจอำมฤตย์' ดีเดย์ 1 มิถุนายน ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้ายไปขอรับได้ฟรีใน 14 รพ.ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว "ขยายการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย ด้วยตำรับเบญจอำมฤตย์" ว่า จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 30 เมษายน 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,147 คน แยกเป็น ชาย 1,702 คน หญิง 1,445 คน โดยมีผู้ป่วยมะเร็งแบ่งตามกลุ่มอาการโรค ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม มะเร็งถุงน้ำดี และมะเร็งท่อน้ำดี โดยเฉพาะมะเร็งตับที่ทดลองเข้ารับการรักษาด้วยตำรับเบญจอำมฤตย์ ประกอบด้วย รงทอง มหาหิงค์ ยาดำ ตองแตก (ทนดี) พริกไทย ดีปลี ดีเกลือฝรั่ง มะกรูด และขิง พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับเข้ารับยาดังกล่าว 2,200 ราย

นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า จากการติดตามตลอด 3 เดือน ที่ผู้ป่วยทดลองรับยาเบญจอำมฤตย์ พบว่า มากว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมีคุณภาพ ชีวิตดีขึ้น เช่น ระบบขับถ่าย อาการท้องอืด และกินอาหารดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ บางราย ขนาดของมะเร็งเล็กลง บางรายเท่าเดิม ซึ่งในอนาคตกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ตั้งเป้าว่าจะพัฒนายาจนทำให้มะเร็งกลายเป็นเพียงโรคเรื้อรังเท่านั้น

"แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหา คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งหากผู้ป่วยจะเดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อมารับยาถึงกรุงเทพฯ ค่อนข้างลำบาก ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จะกระจายยาเบญจอำมฤตย์ไปยังโรงพยาบาลที่เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพระบบบริการการแพทย์แผนไทย 14 แห่งทั่วประเทศไทย ดังนี้ รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี, รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, รพ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว, รพ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว, รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ, รพ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร, รพ.เทิง จ.เชียงราย, รพ.สมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่, รพ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี, รพ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี, รพ.สมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ และ รพ.การแพทย์ แผนไทยฯ (ยศเส)" นพ.ธวัชชัยกล่าว และว่า ขณะนี้กำลังการผลิตยาอยู่ที่ รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสนับสนุนในเบื้องต้น ส่วน รพ.วังน้ำเย็น ซึ่งมีความพร้อมด้านการผลิตยาที่ผ่านมาตรฐาน การผลิตขั้นต้น หรือ จีเอ็มพี (GMP) และพร้อมดำเนินการผลิต ก็สามารถดำเนินการผลิตได้ในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอย้ำกับผู้ป่วย ทุกรายว่า ยังต้องรักษาควบคู่ไปกับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบันด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 8 พฤษภาคม 2557