ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานวิชาการสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย

ความดันโลหิตสูง จัดได้ว่าเป็นโรคฮิตของคนยุคนี้  คนเป็นกันเยอะมากจนบางครั้งดูเป็นเรื่องปกติ  แต่อันที่จริงเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่อันตรายมาก เรียกได้ว่า ห้ามประมาท เพราะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต รวมทั้งโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ รวมทั้งทำให้เกิดไตวายเรื้อรังจนอาจต้องรับการล้างไต จึงถือว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นเหมือน “ฆาตกรเงียบ” ที่แฝงอยู่ในตัวผู้ป่วยเลยทีเดียวนอกจากนี้ปัญหาสำคัญของโรคความดันโลหิตสูงก็คือ ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็น และถึงแม้จะรู้ตัวว่าเป็นแล้วก็ยังไม่สนใจดูแลรักษา ส่วนหนึ่งเนื่องจากมักจะไม่มีอาการ  ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจ พอเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้ว จึงค่อยเริ่มดูแลตนเอง ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร   

ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ขออธิบายเรื่องความดันโลหิตกันก่อน เพราะบางคนอาจ ยังไม่เข้าใจว่า คืออะไร อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า ความดันโลหิต คือ ค่าที่วัดแรงดัน ในหลอดเลือดแดงโดยใช้เครื่องวัดซึ่งมีหลายแบบ ทั้งที่เป็นแบบปรอท แบบเข็มวัด และแบบอัตโนมัติ ค่าที่วัดได้มี 2 ค่า โดยเขียนเป็นตัวเลข 2 ตัว คั่นกลางด้วย เครื่องหมายเศษส่วน เช่น 130/80 มิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท) ตัวเลขตัวแรก หรือตัวบน เป็นค่าความดันโลหิตระหว่างหัวใจบีบตัว  ส่วนตัวเลขตัวที่สอง หรือตัวล่าง เป็นค่าความดันโลหิตระหว่างหัวใจคลายตัว ทั้งนี้จะต้องวัดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง โดยให้ผู้ป่วยนั่งพักก่อนอย่างน้อย 5 นาที และวัดในท่านั่งโดยให้แขนอยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ โดยใช้เครื่องวัดที่มีขนาด ผ้าพันแขนเหมาะสมกับแขนของผู้ถูกวัดความดัน

โดยทั่วไปหากผู้ใดวัดความดันโลหิตระหว่างหัวใจบีบตัวได้มากกว่า  140 มิลลิเมตรปรอท หรือวัดความดันโลหิตระหว่างหัวใจคลายตัวได้มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อย ในคนไทยร้อยละ 20เลยทีเดียว

อะไรที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันสูง

ปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูง อยากรู้ไหมว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ความดันสูงขึ้น

1. อายุ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น เช่น ขณะอายุ 18 ปี   ความดันโลหิต เท่ากับ 120/70มม.ปรอท แต่พออายุ 60 ปี ความดันโลหิต อาจจะเพิ่มขึ้น เป็น 140/90 แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้นเสมอไป อาจวัดได้ 120/70 เท่าเดิมก็ได้

2. ช่วงเวลาของวัน ความดันโลหิตจะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน เช่น ในตอนเช้าอาจจะวัดได้ 130 มม.ปรอท ขณะที่ช่วงบ่ายอาจวัดได้ถึง 140 มม.ปรอท ขณะนอนหลับอาจวัดได้ต่ำเพียง 100 มม.ปรอท เป็นต้น

3. จิตใจและอารมณ์ มีผลต่อความดันโลหิตได้มาก ขณะที่ได้รับความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติถึง 30มม.ปรอท ขณะที่พักผ่อนความดันโลหิตก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ เมื่อรู้สึกเจ็บปวดก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน

4. เพศ เพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง

5. พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ บิดาและมารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัว เครียดทำ ให้มีแนวโน้มเป็นโรคความดันสูงด้วยเช่นกัน

6. สภาพภูมิศาสตร์ ผ้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูง มากกว่าในสังคมชนบท

7. เชื้อชาติ ชาวตะวันตกพบความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวเอเชีย

8. ปริมาณเกลือที่รับประทาน ผู้ที่รับประทานเกลือมากมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูง มากกว่าผู้ที่รับประทานเกลือน้อย เพราะปริมาณเกลือที่มากเกินพอดีจะทำ ให้ร่างกายเก็บรักษาน้ำมากขึ้น ทำ ให้ปริมาณน้ำในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความดันสูง แนะนำ ให้รับประทานเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน หรือ 1 ช้อนชา

อาการและภาวะแทรกซ้อน

อาการเวลาเป็นโรคนี้ มีอยู่หลายแบบ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใด ๆ เลยบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ เหนื่อยง่ายผิดปกติ หรือมีอาการแน่นหน้าอก นอนไม่หลับ ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่รักษาหรือควบคุมไม่ดี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดในสมองแตก หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดงตีบหรือตัน   เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ รวมไปถึงอาการหลอดเลือดสมองตีบ เกิดอัมพฤกษ์    อัมพาต หรือหลอดเลือดแดงในไตตีบมากถึงขั้นไตวายเรื้อรัง

การรักษาความดันโลหิตสูง

การรักษาโรคความดันโลหิตสูงนั้นมีทั้งแบบใช้ยา และไม่ใช้ยาโดยการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพราะในการรักษานั้นไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาทุกคน

การรักษาโดยการไม่ใช้ยา

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก รับประทานอาหารให้เหมาะสม ออกก ลังกายสม่ำเสมอ จำ กัดเกลือในอาหาร งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ ก็ถือเป็นการรักษาที่สำคัญ และในกรณีที่ใช้ยารักษาก็จำ เป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะไม่หายจากโรคนี้ได้ การลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ มีดัชนีมวลกาย = 18.5 - 24.9 กก./ ม.2  จะช่วยลดความดันตัวบนได้ 5-20 มม.ปรอท ต่อการลดน้ำหนักตัว  10  กก. เน้นรับประทานผัก ผลไม้ให้มาก ลดปริมาณไขมันในอาหารโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว จะช่วยลดความดันตัวบนได้ 8-14 มม.ปรอท

อีกอย่างที่ไม่ควรมองข้าม คือ การจำกัดเกลือในอาหารโดยลดการรับประทานเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา จะช่วยลดความดันตัวบนได้  2-8 มม.ปรอท  ส่วนการงดหรือลดแอลกอฮอล์ โดยจำกัดการดื่มให้ไม่เกิน 2 drinks ต่อวัน ในผู้ชาย และไม่เกิน 1 drink ต่อวัน ในผู้หญิงและคนน้ำหนักน้อย [1 drink เทียบเท่ากับ 44 มล. ของสุรา (40%)  355 มล. ของเบียร์ (5%) หรือ148 มล. ของเหล้าองุ่น (12%)] จะช่วยลดความดันตัวบนได้ 2-4 มม.ปรอท อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การออกกำ ลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็ว ๆ หรือวิ่ง อย่างน้อย 30 นาที ต่อวัน และเกือบทุกวันต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความดันตัวบนได้ 4-9 มม.ปรอท

การรักษาโดยการใช้ยา

ยาลดความดันโลหิตมีหลายกลุ่ม ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาต้านแคลเซียมยาเอซีอีไอ ยาเออาร์บี ยาต้านเบต้า และยาต้านอัลฟ่า แพทย์จะใช้ยากลุ่มใดในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะพิจารณาจากการประเมินว่า มีโรคหัวใจ โรคไตโรคเบาหวานด้วยหรือไม่ การตอบสนองของยาในแต่ละคนเป็นอย่างไร เกิดผลข้างเคียงของยาหรือไม่ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักต้องใช้ยา2-3 ตัวขึ้นไปเพื่อให้ได้ระดับความดันโลหิตที่ต้องการ การปฏิบัติที่สำคัญเมื่อได้รับการสั่งจ่ายยา ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถ้ารับประทานยาอย่างอื่นอยู่ และควรรับประทานยาโดยสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง หากมียาชนิดใดที่ทำให้รู้สึกไม่สบาย ควรแจ้งด้วยเช่นกัน เพราะอาจต้องหยุด หรือลดขนาดยา และมารับการตรวจ อย่ารอให้ยาหมด

 “จากข้อมูลทางการแพทย์ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจากหัวใจวายถึง60-75% เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมอง อุดตันหรือแตก 20-30% และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5-10%  และ รู้ไหมว่า การลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ หรือน้อยกว่า 140/90   มม.ปรอท จะช่วยลดการเกิดอัมพาตร้อยละ 35–40 หัวใจขาดเลือดหรือ กล้ามเนื้อหัวใจตายลดลงร้อยละ 20–25 และทำให้เกิดหัวใจวายลดลงร้อยละ50 เพราะฉะนั้นผู้ป่วยจึงควรดูแลตนเอง ควบคุมระดับความดันให้ปกติ ไว้ดีกว่า”

สรุปแล้ว การลดน้ำหนัก รับประทานอาหารให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จำกัดเกลือในอาหาร งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์  ช่วยลดความดันโลหิตได้ และควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งโดยสม่ำเสมอ…เพียงเท่านี้ก็ห่างไกลจากโรคความดันแล้วล่ะ

ผู้เขียน : นาวาอากาศเอก นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานวิชาการสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย